ประเด็นน่าสนใจ
- บริษัท ทาการาจิมะชะ ซื้อโฆษณาหน้าคู่ นสพ.ยักษ์ ในญีปุ่น
- เปิดประเด็นการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่นตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
- ได้มีการตั้งคำถาม “หรือจะให้ประชาชนสู้กับโควิด-19 ด้วยดาบไม้ไผ่”
บริษัท ทาการาจิมะชะ ในประเทศญี่ปุ่น ได้ซื้อโฆษณาหน้าคู่บน 3 หนังสือพิมพ์ยักษ์ในญี่ปุ่น คือ หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun, Yomiuri Shimbun และ Nikkei ในเช้าวันนี้ ตั้งคำถามถึงการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยในข้อความบนโฆษณาชิ้นดังกล่าวมีข้อความพาดหัวโฆษณาดังกล่าว ถึงรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างตรงไปตรงมา
ไม่มีวัคซีน, ไม่มียา หรือพวกเราต้องสู้ด้วยกระบองไม้ไผ่
ถ้ายังเป็นแบบนี้ การเมืองนี่และจะคร่าชีวิตเรา
โดยนอกจากนี้ข้อความที่ปรากฎอยู่ในชิ้นโฆษณานี้ ยังมีการถามจี้ไปยังจุดปัญหาที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ไม่ว่าเป็น หนึ่งปีที่ผ่านมาคืออะไร จะต้องมีการกักตัวถึงเมื่อไหร่ เลิกแก้ตัวเสียที ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องแสดงออก ซึ่งข้อความดังกล่าวทำให้เกิดกระแสเกิดขึ้นในญีปุ่น พบปัญหาต่าง ๆ ในการจัดการและการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตอย่างมากคือ ประเด็นของการจัดการวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นประสบปัญหาการเดินหน้าฉีดวัคซีนเป็นไปได้อย่างล่าช้าอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ
ส่วนภาพประกอบที่ใช้เป็นภาพของกลุ่มเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นที่ถือ Naginata หรือเป็นดาบไม้ขนาดยาว ในการฝึก Naginata training เมื่อปี 1941
…
ญี่ปุ่น ประสบปัญหาอะไรกับวัคซีนบ้าง?
การอนุมัติที่ล่าช้า
ประเทศญี่ปุ่นมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับการฉีดวัคซีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ต้องมีการตั้งข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเข้มงวด และข้อกำหนดเหล่านั้นเองกลับกลายเป็นข้อกำหนดที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าจัดการอนุมัติ – ตรวจรับ และฉีดวัคซีนได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ข้อกำหนดที่ระบุว่า วัคซีนจะต้องมีการทดลองทางคลินิกในญี่ปุ่นก่อนการได้รับการอนุมัติเป็นต้น ซึ่งนั่นทำให้การฉีดวัคซีนทำได้ช้ากว่า
ไม่มีตู้เย็นที่เย็นจัดสำหรับเก็บวัคซีน
หลังจากที่ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมในการรับวัคซีนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบปัญหาตู้เย็นแบบ Ultra Freeze สำหรับเก็บวัคซีนภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำ -70 องศาฯ ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการเร่งจัดหา และดำเนินการผลิตเพิ่มเติม ซึ่งสามารถจัดหามาได้ทัน นอกจากนี้ ทาง Pfizer ได้มีการปรับสูตรยาในล็อตการผลิตหลัง ๆ ทำให้สามารถเก็บที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิมได้ (แต่หากต้องการเก็บเป็นเวลานาน ก็ยังต้องใช้อุณหภูมิที่เย็นจัดเช่นเดิม)
น้ำแข็งแห้ง-การกระจาย
ญี่ปุ่นใช้การจัดเก็บวัคซีนที่ส่วนกลางในก่อนส่งต่อไปยังจะฉีดต่าง ๆ ซึ่งในจุดย่อยต่างๆ มีการวางแผนใช้ถุง-กล้องเก็บความเย็นร่วมกับการใช้น้ำแข็งแห้ง และมีรายงานต้นปีว่า การจัดส่งดังกล่าวนั้นอาจจะประสบปัญหาการจัดหาน้ำแข็งแห้งได้ไม่เพียงพอ ทำให้ส่งผลกระทบอีกครั้ง ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวอีกรอบ ซึ่งปัญหาในเรื่องของน้ำแข็งแห้ง-ตู้เก็บความเย็นเกิดขึ้นในช่วงใกล้ ๆ กันเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก่อนการเริ่มต้นฉีดวัคซีน
เข็มฉีดยา low dead space ไม่พอ
หลังจากที่แก้ปัญหาเรื่องของการจัดหาอุปกรณ์จัดเก็บและจัดส่งวัคซีนแล้ว ญี่ปุ่นพบปัญหาใหม่อีกนั่นคือ ญี่ปุ่นสั่งผลิตเข็มฉีดยา จำนวนกว่า 200 ล้านชิ้น ซึ่งเป็นเข็มแบบธรรมดาทั้งหมด ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 ที่ Pfizer จัดส่งให้นั้น จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยาแบบ Low dead space syringe เพื่อให้ได้วัคซีนครบถ้วน ทำให้วัคซีนที่ถูกดูดจากขวดบรรจุ จากที่ควรจะได้ 6 โดส จะเหลือใช้ได้เพียง 5 โดสเท่านั้น ส่วนอีกหนึ่งโดสที่เหลือจะถูกทิ้งไปกับหลอดฉีดยา
ซึ่งนั่นทำให้ล่าสุดมีรายงานปัญหาในการฉีดจากปัญหาดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดฉีดวัคซีนในฟุกุโอกะ พบว่า มีวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนไม่ครบตามจำนวน และเห็นว่า มีวัคซีนเหลือตกค้างอยู่ที่ก้นขวด จึงได้นำวัคซีนที่เหลือมารวมกันและฉีดให้กับผู้เข้ารับวัคซีน ที่เหลือก้นขวดเหล่านี้จำนวน 6 รายด้วยกัน
แทงม้าตัวเดียว
ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ลงเงินทุนในการจัดหาวัคซีนโดยได้จัดหาวัคซีนตัวหลักคือ Pfizer ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่น จึงไม่จัดหาวัคซีนตัวอื่นมาเพิ่ม หรือสนับสนุนการวิจัยเพิ่มเติมภายในประเทศ เพื่อให้เพียบพอกับจำนวนประชากรกว่า 126 ล้านคน อย่างรวดเร็ว และมีแผนในระยะยาวมากกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เดินหน้าแผนการจัดหาวัคซีนจากตัวอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยอยู่ในระหว่างการรออนุมัติใช้งานไม่ว่าจะเป็น Moderna และ Astrazeneca ซึ่งทาง Moderna ระบุว่า จะจัดส่งวัคซีนให้ได้ครบ 50 ล้านโดสภายในสิ้นเดือน ก.ย. โดยจะทยอยจัดส่งให้
การฉีดที่ล่าช้า
ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นที่ประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ การกระจายวัคซีน รวมถึงความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนของประชาชนด้วย ทำให้การเดินหน้าฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของญี่ปุ่นเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยในช่วงตั้งแต่ ก.พ. – กลางเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสามารถฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยราววันละ 6 หมื่นโดสเท่านั้น และปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจากวัคซีนที่ได้รับจากไฟเซอร์มีความล่าช้าในช่วงต้น
ซึ่งทำให้เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เดินหน้าตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 1 ล้านโดส โดยได้มีการเพิ่มคู่สายสายในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย หลังก่อนหน้านี้พบปัญหาระบบล่ม ไม่สามารถรองรับการจองฉีดวัคซีนได้