burnout syndrome การทำงาน นิสัย พฤติกรรม ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ

8 วิธีช่วยให้หลุดพ้นนิสัย ผัดวันประกันพรุ่ง

คุณเป็นหรือเปล่า? ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout Syndrome) ขอแนะนำ 8 วิธีช่วยให้หลุดพ้นนิสัย ผัดวันประกันพรุ่ง หนีภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ

Home / CAMPUS / 8 วิธีช่วยให้หลุดพ้นนิสัย ผัดวันประกันพรุ่ง

ประเด็นน่าสนใจ

  • WHO หรือองค์การอนามัยโลก มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ” (Burnout Syndrome) เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์
  • ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟเกิดจากปัจจัยหลายประการ คุณเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้นะ! แต่มีหนทางที่ช่วยรักษาให้หลุดพ้นหายจากภาวะดังกล่าวได้ ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลมากไป
  • หนึ่งในหนทางช่วยให้หลุดพ้น ขอนำทริคมาให้ลองไปทำตามจาก “หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!” (Just Shut Up And Do It ของไบรอัน เทรซี่ กูรูชื่อดังด้านการพัฒนาตนเองสนับสนุนแนวคิดความสำเร็จที่เกิดจากการลงมือทำทันที

คุณเป็นหรือเปล่า Burnout Syndrome

ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ” (Burnout Syndrome) คืออาการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดจากงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่บรรลุเป้าประสงค์ที่วางแผนไว้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

ภาวะนี้เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตัวงานที่เราทำ ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่บุคลิกของตัวเราเอง

กลุ่มอาการที่ชี้ว่าอยู่ในภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ

-รู้สึกอ่อนล้า หมดพลังในการดำเนินชีวิต-

-รู้สึกไม่อยากทำงาน รู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำ งานที่เกี่ยวข้อง-

-ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง-

แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะอาการดังกล่าวนั้นสามารถหายไปได้นะ ถ้าหากคุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังเข้าข่าย ขอแนะนำให้ลองปรับวิธีการทำงาน ปรับสมดุลการใช้ชีวิต แล้วค่อยลุยต่อ!!

สิ่งแรกที่ควรหลีกเลี่ยงคือการ “ผัดวันประกันพรุ่ง”

หลังจากพักอย่างเพียงพอและวางแผนการทำงานต่อไปแล้ว สิ่งแรกที่ควรหลีกเลี่ยงคือการ “ผัดวันประกันพรุ่ง” คุณอาจคิดว่า แค่ผัดไปอีกสักวัน หรือค่อยทำทีหลังก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน ชอบที่จะทำตามแผนให้บรรลุเป้าหมายจนสำเร็จ การผัดออกไปแม้แค่เพียงเล็กน้อยคือจุดเริ่มต้นของการทำแผนไม่สำเร็จ ความล้มเหลวเล็ก ๆ นี้อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ และกลับไปรู้สึกว่างานของตนไม่สำเร็จ ขาดประสิทธิภาพ วนเวียนกับการผิดหวังกับตัวเองจนรู้สึกเหนื่อยล้าอีกรอบก็ได้

ดังนั้นในขณะที่ยังมีไฟอยู่ รีบลุกขึ้นมาลงมือทำตามแผนซะ!

ดังประโยคที่ว่า

ผู้ซึ่งทุกเช้าได้วางแผนงานไว้แล้วตลอดวัน จะเดินตามเส้นทางที่นำพาเขาทะลุผ่านเขาวงกต
แห่งชีวิตที่แสนสับสนวุ่นวายนี้ได้
–– วิกเตอร์ อูโก อ้างถึงจาก “หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!” โดย ไบรอัน เทรซี

8 วิธีลงมือทำทันที หนีอาการผัดวันประกันพรุ่ง หลบหลีกภาวะ Burnout

หนังสือ “หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!หรือ “Just Shut Up And Do It!” ของไบรอัน เทรซี่ (Brian Tracy) กูรูชื่อดังด้านการพัฒนาตนเองสนับสนุนแนวคิดความสำเร็จที่เกิดจากการลงมือทำทันที และการทำงานตั้งแต่เริ่มจนจบให้สำเร็จ หนึ่งในข้อสำคัญคือการ “เลิกผัดวันประกันพรุ่ง” โดยเทรซี่เสนอ 8 วิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นนิสัยชอบผัดไปเรื่อย

1.ทำเช็กลิสต์

จดลำดับสิ่งที่ต้องทำในงานขนาดใหญ่ ๆ เริ่มด้วยสิ่งที่ทำอย่างแรกไปจนถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างสุดท้าย เมื่อนำทุกอย่างที่ต้องทำมาเรียงกันบนลู่วิ่ง จะช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องทำและลดอาการผัดวันประกันพรุ่งไปได้มาก

2.ฝานงานเป็นแผ่น ๆ เหมือนซาลามี่

คงไม่มีใครคิดจะกินซาลามี่ทีเดียวทั้งแท่งใช่ไหม? นำงานมาแบ่งส่วนเป็นชิ้น ๆ เหมือนการฝานซาลามี่ออกเป็นแผ่น ๆ ทีนี้คุณก็จะได้ทำให้เสร็จไปทีละชิ้น เหมือนการค่อย ๆ กินซาลามี่ทีละแผ่น ทำไปทีละนิดแต่ทำเรื่อย ๆ จนสำเร็จ

3.เทคนิค ‘รูเนยแข็ง’

เทรซี่แนะนำให้เจาะทะลวงงานเข้าไปเหมือนการเจาะรูเนยแข็งสวิส จัดการทำงานที่เจอในนั้นให้เสร็จครั้งละ 5-10 นาทีโดยไม่พัก เสร็จแล้วจึงทำงานอื่น เมื่อพบงานเล็กงานน้อยที่ยังไม่ได้จัดการ ให้คิดกับตัวเองว่า “จะทำให้เสร็จตอนนี้” แล้วลงมือทำเลย

4.กฎ 20/80

ร้อยละยี่สิบของงานที่ต้องทำ มีคุณค่ามากถึงร้อยละแปดสิบของงานทั้งหมด

นั่นหมายความว่า คุณต้องหาร้อยละยี่สิบที่สำคัญนั่นให้เจอก่อน เพราะมันคือร้อยละแปดสิบของผลสำเร็จของงาน ถ้าคุณหามันเจอและทำมันก่อน คุณอาจจะทำงานชิ้นใหญ่เสร็จไวกว่าที่คิดเสียอีก

5.ให้รางวัลกับตัวเอง

จัดตารางให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จในทุก ๆ ขั้นตอน เช่น ถ้าทำงานนี้เสร็จจะดื่มกาแฟสักแก้ว หรือถ้าทำงานนี้เสร็จจะกินอาหารค่ำดี ๆ สักมื้อ การให้กำลังใจตัวเองเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จที่ห้ามลืมเป็นอันขาด

6.ให้คำมั่นกับคนอื่น

บางครั้งแค่บอกตัวเองอาจจะไม่พอ ลองบอกคนใกล้ตัวคุณก็ได้ ว่าคุณกำลังจะทำงานชิ้นนี้ในช่วงเวลาจำกัดนะ เมื่อพูดออกไปคุณก็จะรู้สึกเหมือนมีคอยติดตามงานคุณอยู่ตลอดเวลา และเมื่อคุณบอกเขาไปแล้วว่าจะทำให้เสร็จ เหมือนเป็นการรับปากแบบนี้ ก็จะเกิดแรงผลักดันให้คุณต้องทำมันให้เสร็จ

7.เริ่มต้นทันที

ทำงานนั้นเป็นอย่างแรก ๆ ของวัน ก่อนจะเช็กมือถือหรืออีเมล งานที่ทำทันทีหลังตื่นนอนจะเสร็จเร็วกว่างานอื่นอย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลย

8.โฟกัสในแต่ละงาน

วิธีบริหารจัดการเวลาที่ดีที่สุดคือ เลือกสิ่งสำคัญที่สุดขึ้นมาก่อน แล้วตั้งใจทำมันให้เสร็จ โฟกัสกับมันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเสร็จสิ้นกระบวนการ คุณจะได้ทั้งงานที่มีคุณภาพและเสร็จตามกำหนดเวลา จากนั้นค่อยไปลุยงานอื่นกันต่อ

เมื่อคุณทำงานเสร็จ แม้จะเป็นงานเล็ก ๆ คุณจะได้พบประสบการณ์สารเอนดอร์ฟินหลั่ง คุณจะรู้สึกมีความสุขและมีแรงกระตุ้น คุณจะรู้สึกเร่งเร้าให้ทำงานถัดไป เพื่อที่คุณจะได้รู้สึกมีความสุขและมีความสำเร็จจากแรงกระตุ้นแบบนั้นอีกครั้ง

แหล่งอ้างอิง:

  • NPR. (2019). WHO Redefines Burnout As A ‘Syndrome’ Linked to Chronic Stress At Work.
  • PPTV Online. (2019). องค์การอนามัยโลก รับรองภาวะ “หมดไฟในการทำงาน” เป็นอาการป่วย.
  • PPTV Online. (2019). ปรับแผนการทำงานก่อนเสี่ยงเป็น “ภาวะหมดไฟ”.
  • ชนาภัฎฑ์ ธรรมรัฐ. (2017). Burnout Syndrome ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นภาวะหมดไฟในงาน ที่ทำให้คุณหมดใจ คล้ายๆ จะหมดแรง.
  • ชนาภัฎฑ์ ธรรมรัฐ. (2017). ไม่หวั่นแม้วันหมดแรงหมดใจ เพราะนี่คือเทคนิคต่อสู้กับภาวะ Burnout Syndrome ที่ได้ผลที่สุด.
  • ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ. (2019). อนามัยโลกระบุให้ ‘ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ’ เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์.
  • ไบรอัน เทรซี. (2015). หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ! วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล. นนทบุรีฯ: Move Publishing.