ประวัติพระธาตุขามแก่นโดยย่อ
นับแต่การเสด็จดับขันธปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมสารีริกธาตุได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานในที่ต่างๆ หนึ่งในพระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้น คือ พระอังคารธาตุ (ฝุ่น) ซึ่งพระยาหลังเขียวโมริยกษัตริย์ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ประเทศกัมพูชา แต่เมื่อทราบว่า พระมหากัสสปะเถระเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ นำพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) ไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า (พระธาตุพนมในปัจจุบัน) พระยาหลังเขียวโมริยกษัตริย์และพระอรหันต์อื่นๆ อีก 9 องค์ จึงจะอัญเชิญพระอังคารธาตุไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย ขณะเดินทางได้พักแรมที่ดอนมะขามแห่งหนึ่ง โดยได้นำพระอังคารธาตุวางพักไว้บนตอมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น ครั้นไปถึงปรากฎว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว จึงนำพระอังคารธาตุกลับเส้นทางเดิม เมื่อมาถึงดอนมะขามซึ่งเคยพักแรมครั้งก่อน ได้เห็นต้นมะขามใหญ่ที่เหลือแต่แก่นกลับลุกขึ้นผลิดอก ออกผล แตกกิ่งก้านสาขา มีใบเขียวชอุ่มเป็นที่อัศจรรย์ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารธาตุไว้ภายใน และเรียกชื่อว่า “พระธาตุขามแก่น”
พระธาตุองค์ใหญ่ “ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ”
พระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ” ครูบาทั้งแปด”
ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ เมื่อดับขันธปรินิพพาน ชาวเมืองได้นำเอาอัฐิธาตุของพระองค์ท่านบรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก โดยเรียกพระธาตุองค์ใหญ่ว่า “ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ” และพระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ” ครูบาทั้งแปด”
ปู่พระยาหลังเขียว ผู้สร้างพระธาตุขามแก่น
คำนมัสการพระธาตุขามแก่น
(ตั้ง นะโม 3 จบ)
อุกาสะ วันทามิ ภันเต มะหาสาระนะคะเร เจติยะภูมิยัง อาราเม
นะวะหิ อะระหันเตหิ อานีตัง สุปะติฏฐาปิตัง สัมมาสัมพุทธะ สารีริกะธาตุง
สิระสา นะมามิ ตัสสะ สารีริกะธาตุโน ปูชาเม ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้า ขอนมัสการ พระสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระอรหันต์ทั้งเก้า ได้นำมาประดิษฐานไว้ดีแล้ว ณ วัดเจติยภูมิ เมืองขอนแก่นแห่งนี้ ด้วยเศียรเกล้าการบูชาพระสารีริกธาตุฯ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลนานเทอญฯ
งานนมัสการพระธาตุขามแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ ถือได้ว่าเป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง
วิหาร (อุโบสถหลังเดิม) วัดเจติยภูมิ
วิหาร (อุโบสถหลังเดิม) วัดเจติยภูมิ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเจดีย์พระธาตุขามแก่น ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่ว ชั้นเดียว โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ ประดับด้วยช่อฟ้า ปั้นลมและหางหงส์ทำด้วยไม้ หน้าบัน (สีหน้า) ตกแต่งลายพระอาทิตย์แผ่รัศมี (ลายตาเวน) หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว
วิหารมีขนาด 4 ห้อง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 7.40 เมตร ยาวรวมมุขหน้า 15.44 เมตร มุขหน้าแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเสา ระหว่างช่วงเสาประดับรวงผึ้ง (ฮังผึ้ง) ฐานอาคารเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงาย มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าวิหารอยู่ด้านเหนือของอาคาร ผนังด้านเหนือตกแต่งภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) รูปนายทหารแบกปืนขนาบข้างประตูทางเข้าวิหาร เหนือบานประตูขึ้นไปประดับกระจกสี ส่วนผนังด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ผนังด้านใต้ปิดทึบ
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ถวายนามพระพุทธรูปดังกล่าวว่า “พระพุทธพิเนตเจติยภูมิ”
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
1.ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 172 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2525 ฉบับพิเศษ พื้นที่โบราณสถานประมาณ 57 ตารางวา
2.ประกาศกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 18 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ฉบับพิเศษ ครอบคลุมโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน 4 รายการ คือ 1. วิหาร 2. เจดีย์ 3.กำแพงแก้ว 4.เจดีย์พระธาตุอรหันต์ พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 ไร่ 62 ตารางวา
คาถาบูชาหลวงปู่ทวด
บูชาด้วยธูปแขก 9 ดอก มะลิขาว 9 ดอก
( ตั้งนะโม 3 จบ )
นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (3 จบ )
บทอัญเชิญพระเข้าตัว (แผ่เมตตา)
สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา
พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพลัง
อรหันตานัญ จะ เตเชนะรักขัง พันธามิ สัพพะโส
พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ
ภาพโดย กัญญภัทร สุขสมาน
ที่อยู่ : วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
Google map : https://maps.app.goo.gl/Ny3ZZE27tGHPhkeU9
เวลาเปิด – ปิด : 05.00 น. – 19.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อนุโมทนา เต้ย จรินทร์พร พร้อมครอบครัวทำบุญใหญ่สร้างโบสถ์-เจดีย์
สถิติใหม่!! ขอนแก่นทำคลื่นมนุษย์ทำลายสถิติโลกสำเร็จ
ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ครบทั้ง 8 วัน ณ พระธาตุพนม จ.นครพนม