หากพูดถึง สถานีกรุงเทพ คนรุ่นหลังหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า สถานีหัวลำโพง คงต้องร้องอ๋อกันแน่นอน ซึ่งนับตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 จนวันนี้ผ่านไป 103 ปีแล้ว วันนี้ Travel.MThai เลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสถานีหัวลำโพง ให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม
103 ปี สถานีหัวลำโพง
สถานีรถไฟสุดคลาสสิคของไทย
สถานีกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า หัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟเก่าแก่อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนานกว่า 100 ปี เริ่มก่อสร้างช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459
ประวัติของหัวลำโพง
หลายต่อหลายครั้งที่เราเดินทางด้วยรถไฟ จะมีการประกาศเสียงตามสาย หรือป้ายข้างรถสถานีหนึ่งว่า “สถานีกรุงเทพ” แต่เราก็มักจะเคยชินว่าสถานีกรุงเทพคือ “สถานีหัวลำโพง” ตามที่พูดกันมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ความจริงแล้วสถานีรถไฟกรุงเทพ กับสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นคนละสถานีกัน ผู้บริหารก็ไม่ใช่หน่วยเดียวกัน และเป็นรถไฟคนละเส้นทางกัน
สถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เดิมเป็นอาคารไม้ อยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม เยื้องๆ กับโรงเรียนสายปัญญา ก่อนที่จะสร้างอาคารใหม่ในปลายรัชกาลที่ 5 เพื่อรองรับการเดินรถที่มากขึ้น จนสำเร็จในต้นรัชกาลที่ 6 เป็นอาคารทรงโค้งครึ่งวงกลมแบบศิลปะอิตาเลียน เรเนสซองส์ คล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี สถาปนิกสยามผู้ออกแบบ พระที่นั่งอนันตสมาคม, วังปารุสกวัน, สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง
สถานีรถไฟหัวลำโพง มีชื่อเรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ เป็นทางรถไฟเอกชน ที่เดินรถระหว่างหัวลำโพง กรุงเทพฯ กับ เมืองปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก เปิดเดินรถในวันที่ 11 เมษายน 2436 ซึ่งดำเนินกิจการก่อนกรมรถไฟหลวง หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ
ลักษณะอาคารเป็นเรือนแถวเล็กๆ วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก เลียบขนานไปกับทางรถไฟสายปากน้ำที่มุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการ ซึ่งอาคารสถานีหัวลำโพงนั้นตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับสถานีกรุงเทพ ห่างเพียงแค่การข้ามถนนไปไม่กี่สิบเมตรเท่านั้น
สถานีรถไฟหัวลำโพง ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503 พร้อมๆ กับการยกเลิกกิจการรถไฟสายปากน้ำ เป็นอันปิดฉากสถานีรถไฟเอกชนหัวลำโพง และได้มีการสร้างถนนทับทางรถไฟเดิมแทน นั่นก็คือ ถนนพระราม 4 (จากหัวลำโพง-คลองเคย) ถนนทางรถไฟสายเก่า และ ถนนสุขุมวิท (บริเวณหน้าโรงเรียนนายเรือสมุทรปราการ)
ถ้านึกภาพไม่ออกว่าเดิมที่ตั้งสถานีหัวลำโพงอยู่ตรงไหน พื้นที่สถานีหัวลำโพงในปัจจุบันนั้น คือ เกาะกลางถนนพระรามสี่ ซึ่งอยู่ด้านหน้าสถานีกรุงเทพ และมีสถานีรถไฟใต้ดินหัวลำโพง (MRT) อยู่ในตำแหน่งเดียวกับสถานีรถไฟหัวลำโพงสายปากน้ำ เพียงแต่ย้ายจากบนดินลงไปอยู่ใต้ดิน เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม คนยังนิยมเรียกสถานีกรุงเทพ ว่าสถานีหัวลำโพง ตามชื่อคลองและถนนในบริเวณใกล้เคียง คำว่า “หัวลำโพง” นี้บ้างก็ว่ามาจากชื่อทุ่งกว้างบริเวณนั้น ซึ่งใช้เป็นที่เลี้ยงวัวของแขก ชาวบ้านเห็นฝูงวัววิ่งอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียก “ทุ่งวัวลำพอง” และคลาดเคลื่อนมาเป็น “หัวลำโพง” ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ “ต้นลำโพง” ซึ่งเคยมีมากในแถบนี้
เส้นทางรถไฟที่ออกจากหัวลำโพง
กิจการรถไฟในปัจจุบัน มีเส้นทางที่ออกจากสถานีหัวลำโพง จำนวน 4 สาย ได้แก่
1. ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทาง 751.42 กิโลเมตร
2. ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย คือ
- ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี ระยะทาง 575.10 กิโลเมตร
- ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 621.10 กิโลเมตร
3. ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
- ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ ระยะทาง 254.50 กิโลเมตร
- ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง ระยะทาง 184.03 กิโลเมตร
4. ทางรถไฟสายใต้ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรี เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
- ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 973.84 กิโลเมตร (นับถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์)
- ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ระยะทาง 1,142.99 กิโลเมตร
แผนการอนาคต
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนจะเปิดสถานีรถไฟแห่งใหม่ “สถานีกลางบางซื่อ” ที่รวมรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูงเข้าด้วยกัน คล้ายกับ Taipei main station ประเทศไต้หวัน เป็นอันยุติบทบาทของสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน, commons.wikimedia