ACI Crest Kernel electronics นวรัตน์ อรรถานุกูล ระบบรักษาความปลอดภัย อิเล็กทรอนิกส์

นวรัตน์ อรรถานุกูล ผู้ก่อตั้ง Crest Kernel และ ACI Software

Crest Kernel รองรับเทรนด์ผู้สูงอายุสู่ Computer Vision ครบโซลูชั่น เพื่อระบบรักษาความปลอดภัยชาญฉลาด ไม่ต้องเป็นแฟนหนังไซไฟ เชื่อว่าคนยุคนี้คงคุ้นชินกับหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาสแกนใบหน้าหรือภาพ แล้วระบุได้ว่าคนนี้คือใคร ? วัตถุนี้คืออะไร? หรือเกิดเหตุอะไร เทคโนโลยีที่กล่าวถึงนี้เรียกว่า Computer…

Home / TECH / นวรัตน์ อรรถานุกูล ผู้ก่อตั้ง Crest Kernel และ ACI Software

Crest Kernel รองรับเทรนด์ผู้สูงอายุ
สู่ Computer Vision ครบโซลูชั่น เพื่อระบบรักษาความปลอดภัยชาญฉลาด

ไม่ต้องเป็นแฟนหนังไซไฟ เชื่อว่าคนยุคนี้คงคุ้นชินกับหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาสแกนใบหน้าหรือภาพ แล้วระบุได้ว่าคนนี้คือใคร ? วัตถุนี้คืออะไร? หรือเกิดเหตุอะไร

เทคโนโลยีที่กล่าวถึงนี้เรียกว่า Computer Vision (CV) เป็นแขนงหนึ่งของ AI ที่ฝึกให้เครื่องจักรสามารถมองเห็น เพื่อจดจำ ทำความเข้าใจ และตอบสนองต่อข้อมูลภาพได้อย่างชาญฉลาด โดยช่วงไม่กี่ปีนี้เองที่ Computer Vision ถูกนำมาพลิกแพลงสู่แวดวงอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ การผลิต อีคอมเมิร์ซ การสื่อสาร เกษตรกรรม ยานยนต์ เป็นต้น

แต่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินเป็นอย่างดี คือ ระบบสแกนใบหน้าที่อยู่ในสมาร์ทโฟน ซึ่งก็คือหนึ่งในฟีเจอร์ Computer Vi-sion นั่นเอง และนี่ทำให้รับรู้ได้เลยว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนยุคนี้ใกล้ชิดขนาดไหน

แต่ Computer Vision ก็มีหลายด้านและหลายระดับความฉลาด ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และกระบวนการเรียนรู้ของ AI ตัวนั้น ๆ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่า Crest Kernel (เครส เคอร์เนล) วงในด้าน Computer Vision บริษัทเทคฯ สัญชาติไทยที่น่าจับตามอง ในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยี Computer Vision ที่มีหลากหลายโซลูชั่น ไม่ว่าจะเป็น Face Recognition (ฟีเจอร์จดจำใบหน้า), Object Recognition (ฟีเจอร์แยกแยะวัตถุ), Fall Detection (ฟีเจอร์ตรวจจับการล้ม), OCR (Optical Character Recognition : ฟีเจอร์การรู้จำอักขระ หรือพูด ง่าย ๆ ฟีเจอร์อ่านข้อความ), Wearable (เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้)

“เฉพาะเรื่อง Face ก็เป็นเรื่องที่ผมศึกษามาตั้งแต่เรียนปริญญาโทแล้ว จากนั้นค่อยแตกโมเดลอื่น ๆ ศักยภาพของเราสามารถทำซอฟต์แวร์ได้มากกว่า 20-30 โมเดล มากกว่าที่โชว์บนเว็บหน้าบ้าน เพียงแต่ยังเป็นงานวิจัยที่คนยังนึกภาพไม่ออกว่าจะนำมาทำอะไร” นวรัตน์ อรรถานุกูล ผู้ก่อตั้ง Crest Kernel และ ACI Software เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาซอฟต์แวร์ Computer Vision หรือ Image Processting ในยุคที่ AI ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย

เรียนรู้จากลูกค้า มองตลาดให้ออก ก่อนก้าวเดิน

แม้จะคลุกคลีกับเทคโนโลยีนี้มานาน แต่ใช่ว่า Crest Kernel จะลุกขึ้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทันที แรกเริ่มธุรกิจ Crest Kernel เกิดจากการผลิตเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์รองรับงานด้านโลจิสติกส์ และพัฒนาโซลูชั่น Optimiza-tion รายโปรเจกต์ให้กับลูกค้า

แต่หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ ทำให้นวรัตน์มองเห็นศักยภาพและความต้องการของตลาด จน 4ปีที่แล้วกลับมาต่อยอด Computer Vision ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อ DeepEyes รองรับระบบรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ ภายใต้การพัฒนาซอฟต์แวร์โดย ACI Software และฝั่ง Crest Kernel นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

“ผมมองว่าขายแค่ Face Recognition นั่นหาได้ทั่วไปในท้องตลาด และเป็นการแข่งขันแบบ Red market อีกอย่างช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ปัจจัย PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) จะทำให้การใช้เทคโนโลยี Face ยืนยันตัวตนมีข้อจำกัด

ปัจจัยหลักอีกประการที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นคือสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่สวมหน้ากาก ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ Face Recognition ลดความแม่นยำลง นั่นทำให้ผมเกิดแนวทางการผสมผสานโซลูชั่น หลายๆ แบบ มาสร้างเป็นระบบเพื่อความปลอดภัย” นวรัตน์ ย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจผสมผสานหลาย ๆ ฟีเจอร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ มากกว่าจะใช้แค่ฟีเจอร์เดียว

นั่นจึงกลายเป็นที่มาของ DeepEyes และตลาดที่นวรัตน์สนใจสำหรับการนำระบบนี้มาช่วยรองรับ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีการเฝ้าระวังความปลอดภัยผู้สูงวัย เนื่องจากระบบไม่ใช่แค่จับผ่านเท่านั้น แต่ยังสามารถเฝ้าระวังความปลอดภัยผู้สูงวัย เช่น แจ้งเตือนเมื่อมีการล้ม แยกแยะวัตถุ เป็นต้น

“ผมมองว่าแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุเป็นเทรนด์สากลทั่วโลก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม Long stay เพื่อผู้สูงวัยหรือชาวต่างชาติที่มีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น, ยุโรป หรือในไทย ที่เชียงใหม่, พัทยา เมื่อผู้สูงอายุมากขึ้น แล้วใครจะมาเฝ้าดูแลได้ตลอด ถ้ามีระบบ Automation ที่ดี เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ที่ดีได้”

ในช่วงระยะทดลองของ DeepEye นวรัตน์ได้นำเสนอโมเดลนำร่องเพื่อขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และได้รับการคัดเลือก นั่นเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสสร้างสัมพันธ์กับ NIA

การสนับสนุนจาก NIA หลักๆ เป็นเรื่องของทุน สิ่งนี้ช่วยให้ผมกล้าที่จะลงทุน ช่วยให้การตัดสินใจทำได้ไวขึ้น อีกเรื่องคือการสนับสนุนช่วยเผยแพร่ผ่านสื่อ เพราะต่อให้ผมมีงบพอจะมาประชาสัมพันธ์ก็คงทำได้ยากเช่นกัน คงไม่มีใครสนใจ เพราะตอนนั้นผมเป็นเพียงสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่ม ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองก่อน”

อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ความท้าทายที่คาดไม่ถึง

ก้าวแรกของการนำนวัตกรรมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับ Crest Kernel ที่มีประสบการณ์และเติบโตบนสายเทค ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้เป็นอุปสรรคหลักในการเติบโต แต่กลับเป็นปัจจัยภายนอกที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกค้าองค์กรชะลอการลงทุน ไปจนถึงปัจจัยไกลตัว แต่เป็นแรงเหวี่ยงจนมา กระทบธุรกิจ อย่างปัญหาฮาร์ดแวร์ที่มีราคาสูงจากเทรนด์ Bitcoin และ Token ทำให้เกิดความต้องการฮาร์ดแวร์และ CPU มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น

“ช่วงนั้นผมเลยเอาเวลาไปโฟกัสการวิจัยผลิตภัณฑ์และซอฟต์แวร์ดีกว่า ผมว่าที่อยู่รอดมาได้ เพราะให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุน เน้นจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายรับ เพราะแม้ว่าธุรกิจนี้จะมีนักลงทุนมาร่วมด้วย แต่การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ผมรู้ว่าต้องเดินด้วยทุนของเราเองเพื่อผ่านความท้าทายตรงนี้ไป จึงใช้ต้นทุนให้ต่ำที่สุด อีกส่วนคือได้ตัวช่วยจากภาครัฐอย่าง NIA ด้วย”

“ในมุมการขายและการตลาด ผมไม่ได้เอาความท้าทายด้านเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง แต่นำความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง สมมุติว่าถ้ามีค่าฮาร์ดแวร์สูงมาก แบบนี้ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อยาก ขายยากไม่พอ แต่จะยิ่งทำให้เจ๊งเร็วด้วย เพราะจะขาดสภาพคล่อง ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ผมหาทางออกไว้หมดในตอนนั้น” นวรัตน์เผยถึงวิธีคิดเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดตามประสาพื้นเพคนจบบริหารธุรกิจสาขาการเงิน ก่อนเบนเข็มมาศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโลดแล่นบนเส้นทางสายนี้

สั่งสม Success Story เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า

ผ่านฟ้าหลังฝน อนาคต Crest Kernel พร้อมปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ Deep Analytics ต่อยอดจาก DeepEyes กับจุดแข็งของบริษัท 3 ประการ ได้แก่ 1. ธุรกิจมีโมเดลครบโซลูชั่น 2. เน้นคุณภาพ เฉพาะฟีเจอร์ Face Recogni-tion ก็ผ่านการทดสอบจาก NIST (The National Institute of Standards and Technology) มีความแม่นยำสูงถึง 99.33% 3.ง่ายต่อการติดตั้ง ลูกค้าใช้แค่คอมพิวเตอร์ทั่วไปก็สามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าว่าสักวันจะเป็นแบรนด์ที่รู้จักด้านกล้องวงจรปิด

“สิ่งสำคัญกว่ากำไร ก็คือฐานลูกค้าที่แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสร้างคุณค่าของแบรนด์ต่อไป เราอยากให้ Deep Analytics เป็นแบรนด์พื้นฐานที่จะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนแบบจับต้องได้

จริง ๆ สิ่งที่ Crest Kernel กำลังทำคือการสั่งสม Success Story เพื่อนำเสนอผลงานให้กับอุตสาหกรรมที่มีความจริงจัง หรือมีความสากลในเชิงการใช้เทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาดต่างประเทศ บริษัทที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านย่อมมีตัวเลือกมากมาย ฉะนั้นเราต้องทำผลงานที่เห็นภาพชัดเจนอย่างการจับเทรนด์ผู้สูงอายุ เพราะนี่คือ เมกาเทรนด์ที่ประเทศใหญ่ ๆ ในโลกให้ความสำคัญ”

ทุกวันนี้ Crest Kernel ได้รับรางวัลการันตีผลงานในระดับสากล อาทิ ในงาน The International Invention and Innovation Show, INTARG ประเทศโปแลนด์ รวมถึงตัวนวรัตน์ก็ได้รับคัดเลือกไปอบรมและสัมมนาบนเวทีสายเทคระดับสากล ซึ่งล้วนเป็นใบเบิกทางไปสู่ตลาดสากล

ถึงเป็นการเดินไปข้างหน้าช้า ๆ ไม่ได้หวือหวาเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพทั่วไป แต่รู้สึกถึงก้าวที่มั่นคง อย่างที่นวรัตน์บอกว่า ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และจะเดินไปในทางไหนของแผนที่วางไว้ โดยทุกก้าวที่มุ่งไปนวรัตน์ยึดมั่นในพื้นฐานคติการทำงาน

ดติประจำใจ : ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซื่อสัตย์จริงใจ ไม่เอาเปรียบใครและไม่ให้ใครมาเอาเปรียบเรา’

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)