แม้จะเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอด สำหรับ “ปริมประภา แก้วคำไสย์” นักตะกร้อสาวจากร้อยเอ็ด ที่ผลงานในสนามของเธอโดดเด่นจนได้รับฉายา “สาวน้อยมหัศจรรย์” จากการเสิร์ฟตะกร้อที่เป็นอาวุธเด็ดเอาชนะคู่ต่อสู้มาแล้วทุกสนาม รวมไปถึงการเอาชนะนักตะกร้อดีกรีทีมชาติไทย แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ “ปริมประภา” ก็ยังไม่เคยปรากฏในสารบบทีมชาติไทย แต่ในทางกลับกัน แม้เธอเองจะถูกหมางเหมินจากบ้านเกิดของตัวเอง แต่สำหรับเกาหลีใต้ เธอเองคือ นักกีฬาคนสำคัญที่ดินแดนโสมขาวเปิดประตูต้อนรับเธอเสมอ นี่คือเรื่องราวจากปากจอมเสิร์ฟวัย 23 ปีที่ออกมายอมรับว่า เธอเองอยากเป็น ปริมประภา แก้วคำไสย์ คนเดิมมากกว่า มือปราบทีมชาติ ..
ประตูบานแรกสู่เกาหลีใต้
“ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปที่เกาหลีใต้ ตอนปี พ.ศ.2560 ตอนนั้นหนูได้แชมป์งานถ้วยฯ เลยได้สิทธิ์ไปลงทีมที่ประเทศเกาหลีใต้ หนูเจอคนเกาหลีใต้เล่นตะกร้อครั้งแรก หนูรู้สึกแปลกใจมาก เพราะเค้าเล่นตะกร้อเหมือนหุ่นยนต์ จะเล่นแบบแข็งๆไม่ค่อยมีเซนส์ในการเล่นเท่าไหร่ เวลาชงก็จะชงสูงๆ เตะก็เตะแรงอย่างเดียวไม่มีจินตนาการ”
“หนูไปซ้อมให้เค้าครั้งแรก ไม่มีใครเปิดลูกเสิร์ฟหนูได้เลย ลงทีมกันหนูก็ชนะขาดเลย แต้ม 21-2 , 21-3 หลังจากเล่นเสร็จเขาก็บอกหนูว่า ไม่เคยเจอลูกเสิร์ฟแบบนี้มาก่อน”
เดินทางนับครั้งไม่ถ้วน
“พอหลังจากนั้น ทางเกาหลีใต้ก็ติดต่อหนูมาโดยตรงเลย และบอกว่าอยากให้หนูไปคนเดียวเลย ตอนนั้นมีติดต่อมาหลายสโมสร ทั้งปูซาน ทั้งอินชอน ตอนนั้นหนูเลือกไปที่อินชอน พอไปถึงเขาก็ให้ไปซ้อมทีมมัธยมปลาย แล้วก็สอนเขาเล่นด้วย แต่ทีนู้นเขาเริ่มเล่นช้าไปหน่อย อายุ 17-18 ปี พึ่งมาเริ่มเล่นตะกร้อ มันก็เลยสอนยากมาก”
“เวลาที่ไปหนูไป ก็จะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน โดยก็จะมีค่าเหนื่อยเป็นก้อน แต่ก็จะแยกกับค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอยู่ ค่ากิน มันก็เป็นรายได้ที่โอเคเลย ถ้าเทียบกับการที่ยังเรียนไม่จบ”
“ถ้าถึงตอนนี้ก็มากกว่า 10 ครั้งแล้วที่เดินทางไปกลับเกาหลีใต้ จากวันแรกถึงตอนนี้ เขาก็เริ่มพัฒนฝีมือมากขึ้น เริ่มรับลูกเสิร์ฟหนูได้บ้าง ตัวเสิร์ฟคู่แข่งก็จะเริ่มเสิร์ฟหลากหลายมากขึ้น มีลูกหยอด มีลูกเสิร์ฟเล่นทาง เพราะเค้าก็เรียนรู้จากเกมเสิร์ฟของหนูไปพอสมควร”
ปริมประภาโมเดล
“ส่วนหนึ่งที่เกาหลีใต้ต้องการจากหนู คือ ท่าเสิร์ฟ เขาพยายามที่จะเลียนแบบท่าเสิร์ฟของหนูเอาให้เหมือนที่สุด เพราะรู้ว่าหนูก็เคยเอาชนะนักตะกร้อรุ่นพี่ๆที่เป็นทีมชาติไทย แต่จนถึงตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าด้วยความที่เกาหลีใต้เริ่มเล่นช้า การจะมาปรับวงเสิร์ฟให้เหมือนกับหนูก็ค่อนข้างยาก ทำให้ตอนนี้ที่เสิร์ฟให้เหมือนเลยยังไม่มี แต่อาจจะมีที่เสิร์ฟเล่นทางได้ ก็ถือว่าเขาพัฒนาขึ้นมาได้พอสมควรในจุดนี้”
มือปราบทีมชาติ
“หนูเห็นฉายานี้ตอนแรก หนูไม่อยากเล่นต่อตะกร้อเลย เพราะมันทำให้หนูรู้สึกกดดันมากๆ เพราะเป็นฉายาที่เขาตั้งให้ เอาตรงๆหนูอยากให้ทุกคนเรียกหนูว่า สาวน้อยมหัศจรรย์ เหมือนเดิมดีกว่า เพราะทุกคนตั้งฉายาให้หนูแบบนี้ มันก็ทำให้นักตะกร้อรุ่นพี่ทีมชาติ ที่เราก็เคารพพี่เค้ามองว่าเราเป็นเด็กปีนเกลียว หนูอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าหนูก็เป็นนักกีฬาธรรมดาที่มีแพ้มีชนะ และอยากบอกพี่ๆนักกีฬาทีมชาติทุกคนว่าหนูก็เคารพและให้เกียรติพวกพี่ๆเขาเสมอ”
ความหวังในเส้นทางตะกร้อ
“มาถึงตรงนี้หนูอยากเลิกเล่นตะกร้อแล้ว เพราะหนูรู้สึกว่าหนูใช้เวลากับมันมามากพอแล้ว หนูไม่มีเวลาเรียน เล่นแต่ตะกร้อ มีเพื่อนน้อยมาก เพราะเวลาเกือบทั้งหมดใช้ไปกับการแข่งตะกร้อ ตอนนี้หนูอายุ 23 ปี ก็วางแผนไว้ว่าถ้าพ่อยังอยากให้เล่นตะกร้อ ก็เรียนต่อปริญญาโท ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเล่นต่ออีกปีสองปี แต่ถ้าพ่อให้หยุด หนูก็จะหางานทำ”
“จนถึงตอนนี้หนูก็ยังแอบหวังลึกๆกับการติดทีมชาติ แต่ตอนนี้ที่หนูทำได้ ก็คือตั้งใจทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดในทุกการแข่งขันในสนาม ส่วนอนาคตเป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ แต่ก็หวังว่าซักวัน จะเป็นวันของหนู”