sepak takraw takraw ตะกร้อ รัถเดช น้อยเจริญ

“ผมต้องทำงานให้หนัก เพื่อโอกาสที่จะมาถึง” – รัถเดช น้อยเจริญ หวังติดทีมตะกร้อ ลุยศึก ซีเกมส์ 2019

หลังจากการประกาศรายชื่อ 22 สองขุนพลนัก ตะกร้อชาย ทีมชาติไทยในการเข้าแค้มป์เพื่อทำศึก ซีเกมส์ 2019 ในช่วงปลายปีนี้ ที่ ประเทศฟิลิปปินส์ จากรายชื่อที่ประกาศออกมานั้นส่วนใหญ่ก็มาตามโผ ที่บรรดาขาประจำอย่าง อาทิ พรชัย เค้าแก้ว…

Home / SPORT / “ผมต้องทำงานให้หนัก เพื่อโอกาสที่จะมาถึง” – รัถเดช น้อยเจริญ หวังติดทีมตะกร้อ ลุยศึก ซีเกมส์ 2019

หลังจากการประกาศรายชื่อ 22 สองขุนพลนัก ตะกร้อชาย ทีมชาติไทยในการเข้าแค้มป์เพื่อทำศึก ซีเกมส์ 2019 ในช่วงปลายปีนี้ ที่ ประเทศฟิลิปปินส์ จากรายชื่อที่ประกาศออกมานั้นส่วนใหญ่ก็มาตามโผ ที่บรรดาขาประจำอย่าง อาทิ พรชัย เค้าแก้ว , สิทธิพงษ์ คำจันทร์ , ภัทรพงษ์ ยุพดี  ขณะที่รายชื่อหน้าใหม่ก็มีหลายคนที่ติดโผเข้ามาเป็นครั้งแรก 

 

แต่มีนักตะกร้ออยู่หนึ่งคน ที่มีเป็นขาประจำของแค้มป์ตะกร้อชายไทย ที่อยู่กับทีมมาถึง 9 ปี แต่ยังไม่เคยมีชื่อเป็น 1 ใน 12 คนสุดท้ายในการลุยศึกเอเชียนเกมส์ หรือ ซีเกมส์ แต่เจ้าตัวก็ยังยืนยันว่า ในทุกๆวันที่ลืมตาขึ้นมาในตอนเช้า เขายังพร้อมที่ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่เพื่อรอโอกาสที่เค้ายังฝันถึงมันอยู่เสมอ เขาคนนั้นคือ “รัถเดช น้อยเจริญ”

  • “ก้าวแรกสู่รั้วทีมชาติ”

“วันที่เดินเข้าไปในแค้มป์ทีมชาติวันแรก มันเหมือนความฝันครับ” นี่คือคำตอบแรกของจอมเสิร์ฟวัย 27 ปีจากราชบุรี ที่เล่าถึงความทรงจำในวันแรกของการมีรายชื่อเข้าแค้มป์ทีมตะกร้อไทยในวัย 19 ปีเศษ

 

“ตอนนั้นผมเด็กมาก ถือว่าเป็นเด็กที่สุดในแค้มป์ตอนนั้น ในตำแหน่งตัวเสิร์ฟตอนนั้นก็มี เกรียงไกร แก้วเมียน , ศิริวัฒน์ สาขา , กฤษณะ ธนกรณ์ ส่วนที่อายุไล่เลี่ยกันหน่อยก็มี วีรวุฒิ ณ หนองคาย ที่เคยเล่นเยาวชนทีมชาติรุ่นเดียวกัน”

 

“ผมจำได้เลยว่าตอนนั้นกลายเป็นคนที่เล่นตะกร้อไม่เป็นเลย เมื่อไปอยู่ท่ามกลางรุ่นพี่ที่เค้ามีประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว แต่ตอนนั้นก็ยังเด็กอยู่ ก็เลยก้มหน้าก้มตาซ้อมไป และหวังสร้างประสบการณ์จากจุดนี้ให้ได้เร็วที่สุด”

 

 

  • “ฝันร้าย”

จากเด็กหน้าใหม่ในวันนั้น ชื่อของ รัถเดช น้อยเจริญ ก็กลายมาเป็นขาประจำของแค้มป์ทีมชาติ แต่เจ้าตัวก็ยังคงเฝ้ารอโอกาสในการได้ออกไปวาดลวดลายในนามทีมชาติไทย และโอกาสนั้นก็มาถึงเมื่อเขาได้รับโอกาสลงแข่งขันตะกร้อรายการ อิสตาฟ ซูเปอร์ซี่รีย์ ในปี 2013 ที่ ประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นรายการ “ลองของ” สำหรับดาวรุ่งหน้าใหม่

 

ตอนนั้นได้รับโอกาสไปแข่งในรายการนานาชาติครั้งแรกครับ จำได้ว่าไปกับ สิทธิพงษ์ คำจันทร์ ที่ถือเป็นเด็กใหม่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีรุ่นพี่อย่าง ศุภชัย มณีนาท , อนุวัฒน์ ชัยชนะ แล้วก็ ภัทรพงษ์ ยุพดี 

 

แต่การประเดิมทีมชาติของเจ้าตัว ก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด แม้จะได้โอกาสลงสนามในรอบแรก แต่ในการแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้าย รัถเดช ทำได้เพียงแค่ส่งเสียงเชียร์จากข้างสนาม ซึ่งผลสุดท้ายทีมตะกร้อไทย เป็นฝ่ายปราชัย เกาหลีใต้ ไปแบบสุดช็อค

 

ตอนนั้นรู้สึกตกใจ และทำอะไรไม่ถูกครับ เพราะสิ่งที่อยู่ในหัวของผมมาตั้งแต่เด็ก คือ ตะกร้อไทยไม่เคยแพ้ใคร พอแพ้กลับมา ก็รู้สึกเสียศูนย์พอสมควรครับ

เหตุการณ์ครั้งนั้นเหมือนจะยังไม่พอที่จะเป็นบทเรียนที่ดีของ รัถเดช เมื่อเขาได้รับโอกาสอีกครั้งในรายการนี้ ในปีเดียวกัน ที่ ประเทศมาเลเซีย และดูเหมือนว่าเจ้าตัวจะกลับมาอยู่ในเส้นทางที่ดี เมื่อได้โอกาสลงสนามเป็นตัวจริงมาตลอดตั้งแต่รอบแรก และกรุยทางไปสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยเจ้าตัวโชว์ฟอร์มได้ดี แต่เมื่อมาถึงรอบชิง ในการเจอกับ มาเลเซีย เจ้าภาพ กลับกลายเป็นว่าโชว์ฟอร์มไม่ออก

 

ในปีเดียวกันผมได้โอกาสอีกครั้ง และครั้งนี้ทำผลงานดีมาก เอาชนะคู่แข่งได้หมด จนได้เข้าชิงกับมาเลเซีย แต่ในสองเซตแรก กลายเป็นว่าเล่นไม่ออก และแพ้ทั้งสองเซต (กติกาตะกร้อในขณะนั้นเล่น 3 ใน 5 เซต) โค้ชเลยเปลี่ยน ธนวัฒน์ ชุ่มเสนา ลงไปแทน และช่วยให้ทีมกลับมาชนะ 3 เซตหลังและได้แชมป์ในท้ายที่สุด

 

ตอนนั้นผมรู้สึกเสียศูนย์หนักกว่าเดิม รู้สึกเสียใจมากที่เล่นไม่ออกในนัดชิง ทั้งๆที่เล่นดีมาตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์

 

และในปีนั้นเอง จากการขับเคี่ยวกันในตำแหน่งตัวเสิร์ฟโควต้าสุดท้าย ที่ขับเคี่ยวกันระหว่าง รัถเดช กับ ธนวัฒน์ จากผลการแข่งขันในรายการนี้ ชื่อของ ธนวัฒน์ ชุ่มเสนา กลายเป็น 1ใน 12 คนสุดท้ายที่ได้ตีตั๋วไปซีเกมส์ 2013 ในท้ายที่สุด

 

  • “ปลดล็อค”

จากความผิดหวังในสองแมทซ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นั่นกลายเป็นฝันร้าย ที่รัถเดช เอาแต่โทษตัวเอง ที่ไม่สามารถไขว่คว้าโอกาสมาได้ แต่ท้ายที่สุด โอกาส ก็เดินมาหาเขาอีกครั้ง เมือในปีถัดมา เจ้าตัวได้รับโอกาสอีกครั้งในการแข่งขัน อิสตาฟ ซูเปอร์ซี่รีย์ ในปี 2014 ที่ เมียนมาร์ รัถเดช ร่วมเดินทางไปกับทีมตะกร้อชุดยังบลัดของไทย ร่วมกับ ณัฐพล ไกรวรรณ์ , ทวีศักดิ์ ทองสาย , สุริยน กุลพิมล และ ภานุพงศ์ เพชรลือ 

 

ผมได้โอกาสอีกครั้งในปีต่อมา รอบนี้ไปกับทีมที่วัยไล่เลี่ยกันหมดเลย ไม่มีรุ่นพี่คอยประคองแล้ว แต่พวกเราก็ยังทำผลงานได้ดีจนได้เข้าชิงกับมาเลเซีย

 ผมเริ่มต้นจากการเป็นตัวสำรอง ซึ่งได้รับโอกาสเปลี่ยนตัวลงไปแทน ณัฐพล หลังจากที่แต้มเราตามอยู่ และมีโอกาสแพ้ แต่ตอนลงไปเครื่องผมก็ยังไม่ร้อน จากที่เปลี่ยนลงไปแต้มตามอยู่ 11-14 ก็โดนฉีกหนีไปเป็น 16-12 แต่หลังจากที่ฟอร์มเริ่มเข้าที่ ก็ค่อยๆไล่มาจนเสมอ และก็เบียดชนะไป 22-20 ”

เกมวันนั้นเป็นเกมส์ที่สูสีมาก พอเข้าเซตสอง เราเป็นฝ่ายแพ้ไป 18-21 จนต้องสู้กันในเซตที่สาม และต้องเล่นกันถึงแต้มดิวส์ ซึ่งสุดท้ายไทยชนะไป 23-21“

ความรู้สึกของผมตอนนั้นคือ รู้สึกโล่งมาก เหมือนคนเราที่แบกอะไรไว้มานาน สุดท้ายได้ยกมันออก เพราะตลอด 1 ปีเต็ม ผมคอยโทษตัวเองมาตลอด ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทีมแพ้ พอวันนี้จบลงด้วยชัยชนะ มันเป็นการปลดล็อคได้ซักที

 

และหลังจากนั้นชื่อของ รัถเดช ก็ได้เป็น 1 ใน 12 ขุนพล นักตะกร้อทีมชาติไทย ในการแข่งขันตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ ในปี 2016 และนั่นคือเป็นครั้งเดียวในการเล่นให้กับทีมชาติไทยชุดใหญ่ของเจ้าตัวจนถึงปัจจุบัน

 

 

  • ทำทุกวันให้ดีที่สุด

จากวันแรกของเด็กหนุ่มในวัย 19 ปีที่ได้เข้ามาอยู่ในสาระบบทีมตะกร้อไทย จนถึงปัจจุบัน ในวัย 27 ปี เพื่อนร่วมทีมคนแล้วคนเล่าที่เขาเคยฝึกซ้อมเคียงข้าง ต่างได้โอกาสในการแข่งขันรายการระดับนานาชาติที่เป็นฝันสูงสุด อย่างซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา รัถเดช ยังไม่มีโอกาสที่จะได้สัมผัสโอกาสนั้น แต่เจ้าตัวก็ไม่เคยย่อท้อ และยังตั้งใจฝึกซ้อมในทุกๆวัน 

 

“มาถึงตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะได้รับโอกาสมาอยู่ในแค้มป์ทีมชาติ แม้ว่าจนถึงตอนนี้ ผมจะยังไม่ได้โอกาสไปแข่งซีเกมส์ หรือเอเชี่ยนเกมส์ แต่ผมก็ยังจะตั้งใจฝึกซ้อมให้เต็มที่ เพราะตะกร้อทำให้ผมมีทุกอย่างในวันนี้”

“ผมเชื่อเสมอว่า ก่อนที่เราจะเรียกร้องอะไรบางอย่าง เราต้องทำตัวเองให้ดีก่อน ถ้าเราเป็นนักกีฬาที่มีศักยภาพ มีจุดอ่อนน้อยที่สุด โอกาสที่เราจะได้เป็น 1 ใน 12 คน”

 

“ความฝันที่ผมยังต้องทำให้สำเร็จ คือ การได้ติดทีมชาติชุดใหญ่ไปแข่งซีเกมส์ หรือ เอเชียนเกมส์ ในยุคเดียวกับ พรชัย เค้าแก้ว เพราะเขาเป็นนักตะกร้อในยุคที่พ่อผมรู้จัก ผมอยากทำให้พ่อผมรู้สึกภูมิใจที่สามารถลงไปเล่นเคียงข้างกับนักตะกร้อที่เขาชื่นชอบ”

 

 “คำคมที่ผมใช้บอกกับตัวเองในทุกๆวันที่ตื่นเช้าขึ้นมา คือคำว่า Every day is a chance to get better แปลเป็นไทย คือ ในทุกๆวัน คือ โอกาสที่จะทำให้เราพัฒนาให้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าผมยังไม่หยุดพยายาม โอกาสมันก็ยังรอคอยที่เดินทางมาหา”

 

จากนี้ไปเป็นเวลาอีกร่วมๆ 8 เดือน 22 ขุนพลนักตะกร้อไทย จะต้องเก็บตัวฝึกซ้อม เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าใคร ที่จะเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็น 12 คนสุดท้าย ในการเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ 2019 ซึ่งบทสรุปสุดท้าย รัถเดช ก็ไม่มีวันรู้เลย ว่าฝันของเขาจะเป็นจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่จะทำให้เขายังอยู่คงเดินทางสู่ความฝันต่อไป คือ “การทำงานให้หนัก เพื่อโอกาสที่จะมาถึง”