พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวภาพรวมในการบริการสมาคมฯในงานประชุมสามัญใหญ่ ประจำปี 2562
วันที่ 29 เมษายน 2562 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมอัลมิรอซ ซ.รามคำแหง 5 กรุงเทพมหานคร สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2562
ภายในที่ประชุม พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งมีใจความว่า “ตลอด 3 ปีที่เราทำงานกันมา เราก็มุ่งหวังจะพัฒนาวงการฟุตบอลไทยยิ่งขึ้น เรามีการร่างแผนพัฒนาแม่บทฟุตบอลไทยระยะยาว 20 ปี ฉะนั้นใน 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราก็พยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนแม่บทที่วางไว้ โดยที่แนวทางต่างๆ ของการทำงานก็เป็นไปตามแผน และมีการประเมินผลงานในสิ่งที่สมาคมทำว่าผ่านเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่”
“ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผมตระหนักดีว่าการพัฒนากีฬาฟุตบอลนั้น มิอาจพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งหวังผลการแข่งขันของทีมชาติ เพราะองค์ประกอบของกีฬาฟุตบอลนั้นมีหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรในกีฬาฟุตบอล จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา สมาคมฯมีนโยบายพัฒนาผู้ฝึกสอน ซึ่งในอดีต เรามีบุคลากรด้านนี้ไม่มาก แต่ตอนนี้เรามีโค้ชที่ผ่านการอบรมหลักสูตรตั้งแต่ระดับเบื้องต้นจนถึงโปร ไลเซนส์ จำนวนกว่าสองพันคน และยังมีการอบรมอยู่เรื่อยๆ”
“เรามีวิสัยทัศน์ว่า เราจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในระดับรากหญ้าได้มีโอกาสเรียนรู้ฟุตบอล จากผู้ฝึกสอนที่มีพื้นฐานการฝึกสอนจากการอบรมตามมาตรฐานเอเอฟซี และเราก็มองว่าโรงเรียนต่างๆ อะคาเดมี่ กว่า 3,000 แห่ง หรือ โรงเรียนจาก สพฐ. อีก 8,000 กว่าแห่ง ไม่มีครูซึ่งจบการอบรมโค้ชเลย แต่ปีนี้เราได้ร่วมมือกับ สพฐ. จัดหลักสูตรอบรมโค้ชเบื้องต้นให้กับบุคลากรครู 8 คอร์ส คอร์สละ 30 คน ทำให้ปีนี้โรงเรียนจาก สพฐ. จะมีโค้ชที่จบการอบรมหลักสูตรเบื้องต้น 240 คน จาก 8,000 กว่าโรงเรียน”
“ปีนี้เองเราก็จะมีการเปิดหลักสูตรอบรมโค้ชเบื้องต้น 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ครูนอก สพฐ. ที่มีหนังสือรับรองจากโรงเรียน รวมถึงบุคคลทั่วไปจากอะคาเดมี่ เพราะเราเชื่อว่าพวกเขาจะช่วยสร้างนักกีฬาฟุตบอลจากระดับรากหญ้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังมองหาจากโค้ช หากเราเทียบโค้ชของเรากับประเทศอื่น จะพบว่าเราห่างเขามาก ถ้าเป็นเกาหลี ทีมโรงเรียนจะมีโค้ชระดับซี ไลเซนส์ เป็นอย่างต่ำ ส่วนญี่ปุ่นเองมีโค้ชถือไลเซนส์ 3-4,000 คน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าความห่างไกล ในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลของไทยกับชาติอื่นอย่างห่างไกลมาก”
“นอกจากเรื่องผู้ฝึกสอนแล้ว เรื่องผู้ตัดสินก็เช่นกัน เรามีการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมกับการกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้า มีการดำเนินคดีผู้ทำผิด 2 ครั้ง 15-16 คน และจะมีการทำต่อไป ซึ่งเราจะแก้ปัญหาในส่วนที่ผู้ตัดสินไม่ได้รับการยอมรับ เราจะมีการสรรหาสิ่งต่างๆ มาช่วยการตัดสินให้เกิดความยุติธรรม โดยการนำ VAR เข้ามาใช้ เราทดลองใช้มา 1 ปี และได้ขอไปที่ฟีฟ่าว่า เราจะขอเป็นชาติที่ใช้ VAR แต่ทางฟีฟ่ายังไม่อนุมัติ จนกว่าเราจะเก็บชั่วโมงบินครบตามกำหนด ซึ่งสมาคมฯ กำลังพยายามจะให้เราได้ใช้ VAR โดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาด้านกายภาพของสนามบางสนามในระดับสโมสร”
“อีกเรื่องที่สำคัญคือสนามฝึกซ้อม หรือ ศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอล ซี่งเราเองยังไม่มีศูนย์ฝึกเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง โดยปัจจุบันเราใช้ศูนย์ฝึกกีฬาต้นแบบ บนความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และตอนนี้เราก็ได้บรรลุข้อตกลง กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งได้อนุญาตให้ทางสมาคมฯ ใช้พื้นที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 150 ไร่ ให้สร้างศูนย์ฝึกฟุตบอล ซึ่งจะเป็นของสมาคมฯ เอง โดยศูนย์แห่งนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ซึ่งต่อไปกิจกรรมการฝึกอบรมโค้ช และกิจกรรมรากหญ้าต่างๆ ของสมาคมฯ จะจัดที่นี่ทั้งหมด”
“ทีมชาติไทยจะแข็งแรง ต้องเกิดจากรากฐานฟุตบอลลีกที่แข็งแรง ดังนั้นสมาคมฯ จึงพยายามผลักดันสิ่งต่างๆ อะไรที่เป็นประโยชน์กับสโมสรเราก็จะทำ โดยเราได้พูดคุยกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟภ. ในการปรับปรุงไฟส่องสว่างในสนามให้แต่ละสโมสร”
“นี่คือสิ่งที่สมาคมฯ พยายามจะทำให้กับสโมสรสมาชิก เช่นเดียวกับการเปิดหลักสูตรอบรมนักกายภาพ เพื่อผลิตนักกายภาพคนไทยที่มีคุณภาพ โดยขอให้สโมสรส่งนักกายภาพของท่านมาอบรม เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรต่อไป”