กรมโรงงานอุตสาหกรรม

กรมโรงงานฯ จัดสัมมนาฯ โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการผลิต

กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสัมมนาแถลงผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการผลิตที่เหมาะสมด้วยนวัตกรรมและ IoT”

Home / Other / กรมโรงงานฯ จัดสัมมนาฯ โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการผลิต

ประเด็นน่าสนใจ

  • กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสัมมนาแถลงผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการผลิตที่เหมาะสมด้วยนวัตกรรมและ IoT”
  • มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการนำร่องอุตสาหกรรมต้นแบบและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
  • โดยการนำระบบการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลและสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

วันที่ (4 พ.ย.63) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาแถลงผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการผลิตที่เหมาะสมด้วยนวัตกรรมและ IoT”

โครงการฯนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการนำร่องอุตสาหกรรมต้นแบบและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

โดยการนำระบบการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลและสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ ระบบ Internet of Things มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งโครงการฯได้เปิดรับสมัคร โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในกลุ่ม S–Curve, New S-Curve, Second Wave S-Curve หรือ อุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมโครงการฯ

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้การสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ โดยการจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินการใช้พลังงาน/ให้คำปรึกษาบื้องต้นเพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ , การให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อร่วมหารือถึงความต้องการพัฒนากระบวนการผลิต แนวทางการเก็บข้อมูลระบบการผลิต, ออกแบบการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ (Sensors) พร้อมอุปกรณ์ประกอบ โดยได้ให้การสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการติดตั้ง Sensors รวมจำนวนทั้งสิ้น 210 ตัว ชุดแปลงสัญญาณข้อมูล และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ/ส่งสัญญาณ Online รวมจำนวนทั้งสิ้น 100 ชุด

ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดต่างๆนี้ ได้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบประมวลผลและแสดงผลกลาง หรือ Web–based Application ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขึ้น และแสดงผลข้อมูลตรวจวัดที่บันทึกได้บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, Tablet, Smart Phone แบบ Real time โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจวัดได้ และนำมาจัดทำเป็นแนวทางและมาตรการประหยัดพลังงาน/การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด หรือการลดการเกิดของเสียต่างๆ จากกระบวนการผลิต เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการต่อไป

ภายหลังจากที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆไปแล้วบางส่วนพบว่ามีผลประหยัดพลังงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 800 ตันน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อปี (toe/Y) คิดเป็นมูลค่ารวม 13.10 ล้านบาทต่อปี และหากได้ดำเนินการครบทุกมาตการที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะจะมีศักยภาพการประหยัดพลังงานรวมทั้งสิ้น 3,900 ตันน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อปี (toe/Y) โดยประมาณ คิดเป็นมูลค่ารวม 30.66 ล้านบาทต่อปี

พร้อมมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบด้านนวัตกรรม IoT จำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่ม S–Curve 2 แห่ง กลุ่ม Second Wave S-Curve 8 แห่ง และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ 10 แห่ง

โดยภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของนวัตกรรม IoT กับการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในโลกยุคปัจจุบัน” และกิจกรรม “True 5G IoT” เพื่อเป็นการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ IoT ของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต