หาดเขาหน้ายักษ์ เต่ามะเฟือง เต่าวางไข่

พบเต่ามะเฟืองวางไข่ หาดเขาหน้ายักษ์ อช.เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

พบเต่ามะเฟืองวางไข่ หาดเขาหน้ายักษ์ อช.เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เจ้าหน้าที่หวั่นเจอน้ำทะเลขึ้นสูงขุดย้ายไข่ขึ้นมาฟัก

Home / Other / พบเต่ามะเฟืองวางไข่ หาดเขาหน้ายักษ์ อช.เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

ประเด็นน่าสนใจ

  • ชาวบ้านในตำบลท้ายเหมืองว่าพบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเลบริเวณทิศใต้ของหาดเขาหน้ายักษ์ จังหวัดพังงา
  • อยู่ห่างจากเขาหน้ายักษ์มาทางทิศใต้ประมาณ 2 กม. พบไข่ทั้งหมด 100 ฟอง เป็นไข่ดี 91 ฟอง ไข่ลม 9 ฟอง

วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 นายหฤษฎ์ชัย ฤทธิช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา รายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้รับแจ้งจากชาวบ้านในตำบลท้ายเหมืองว่าพบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเลบริเวณทิศใต้ของหาดเขาหน้ายักษ์ จึงเข้าตรวจสอบพบมีร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากเขาหน้ายักษ์มาทางทิศใต้ประมาณ 2 กม. และห่างจากหลุมไข่เดิมที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ประมาณ 1.5 กม.

โดยจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่คาดว่ารอยดังกล่าวเป็นร่องรอยของเต่ามะเฟือง เมื่อวัดขนาดความกว้างได้ 170 ซม. ความกว้างช่วงอก 80 ซม. จึงได้ทำการขุดหาไข่เต่าจนเจอวัดความลึกของหลุมไข่ได้ 70 ซม. พบไข่ทั้งหมด 100 ฟอง เป็นไข่ดี 91 ฟอง ไข่ลม 9 ฟอง ทั้งนี้เนื่องจากหลุมไข่ที่แม่เต่าวางไข่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดและปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายต่อไข่เต่าได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการย้ายไข่ทั้งหมดมาเพาะฟักในลังโฟม โดยได้รับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ทั้งนี้จะทำการติดตั้งไฟกกไข่ เครื่องวัดอุณหภูมิ (Data Logger) เพื่อควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น ให้เหมาะสมต่อการเพาะฟักของเต่ามะเฟือง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญต่อไป

เต่ามะเฟือง เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับ เต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน อาศัยอยู่ในทะเลเปิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก

ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกลจึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ และเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 18 ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562