บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ทรานส์ลูเซีย (Translucia ) สุดอลังการ พร้อมก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีโลกเสมือน ด้วยคอนเซ็ปต์ “Translucia: Infinite Universe of Interconnected Metaverses” อนันตจักรวาลศูนย์รวมของ Metaverse ที่เชื่อมต่อถึงกัน แห่งเดียวในโลก ตอกย้ำอีกหนึ่งจุดยืนในการเป็นบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรม พร้อมนำพาธุรกิจบันเทิงของ T&B ขยายธุรกิจเอ็นเตอร์เทนต์เมนต์สู่ธุรกิจโลกเสมือน ซึ่งเป็นยุคเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจบันเทิงระดับโลก พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันให้นักลงทุนระดับโลกเข้าร่วมลงทุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกภาคส่วนทั้งกลุ่มธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค คาดการณ์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงธุรกิจได้มากถึงหนึ่งล้านล้านบาท
บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ T&B MEDIA GLOBAL (THAILAND) CO., LTD บริษัทผู้ผลิตซีรี่ส์ แอนนิเมชั่น คอนเทนต์บันเทิงระดับโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดย ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ หรือ ดร.แตน มีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ พัฒนา เพื่อผลิตสื่อที่สร้างความบันเทิง และส่งต่อความสุขให้กับผู้ชมทั่วโลก โดย ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) เป็นที่รู้จักในผลงานสร้างสรรค์จาก บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เรื่อง เชลล์ดอน (Shelldon) ซีรี่ส์แอนิเมชั่นทางโทรทัศน์ไทยเรื่องแรกที่ออกอากาศทางช่อง NBC ในสหรัฐอเมริกาและออกอากาศไปแล้วกว่า 180 ประเทศ และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 35 ภาษา ตลอดระยะเวลามากกว่า 6 ปี ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ระดับโลก เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและการเข้าทำตลาดกับพันธมิตรทางธุรกิจกับนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และประเทศจีน
ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ หรือ ดร.แตน ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บฃริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “วันนี้ ทีแอนด์บี เปิดตัว ทรานส์ลูเซีย เพื่อก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีโลกเสมือนอย่างเต็มตัว เนื่องจากเมตาเวิร์สเป็นธุรกิจแห่งอนาคต สามารถเชื่อมต่อโลกจริงเข้ากับโลกดิจิทัลได้อย่างกลมกลืน ไม่จำกัดผู้เข้าใช้งานแพลตฟอร์ม และสามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน สามารถสร้างเศรษฐกิจใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุด ทีแอนด์บี ได้จับมือ MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น) เปิดตัว MQDC Idyllias (ไอดิลเลียส์) โครงการเมตาเวิร์สแห่งแรกที่มาช่วยสร้างสรรค์โลกใบใหม่ โลกแห่งอนาคต ที่ ๆ ซึ่งโลกแห่งความจริง และโลกเสมือนจะได้เชื่อมผสานกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งการพัฒนาโครงการทรานส์ลูเซียนี้ จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของทีแอนด์บีที่จะได้นำผลงานบันเทิงชั้นนำต่าง ๆ ที่เราเป็นผู้ผลิต รวมถึงงานที่เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลายเข้ามาต่อยอดให้ใช้งานเชื่อมโยงได้ทั้งสองโลกอย่างเป็นรูปธรรม
คุณภาคภูมิ ตันตนันตา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เราเป็นบริษัทเอ็นเตอร์เทนต์เมนต์ 360 องศา ที่มุ่งมั่นพัฒนาการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภค สำหรับปี 2566 นี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจใน 3 ส่วนหลักที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลงทุนในคอนเทนต์ (ซีรี่ส์แอนิเมชั่น และภาพยนตร์) การลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีเพื่อให้การเข้าถึงคอนเทนต์ของผู้ชมมีประสิทธิภาพ และการลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรม ผ่าน ทรานสลูเซียทั้งนี้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Translucia: Infinite Universe of Interconnected Metaverses” นั่นคือ อนันตจักรวาลศูนย์รวมเมตาเวิร์สที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งการเปิดตัว Translucia ในครั้งนี้จะเป็นการนำพาโปรเจกต์บันเทิงของ T&B ก้าวไปสู่เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต โดยที่ทุก ๆ ท่านจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกใหม่ โลกของ Translucia อนันตจักรวาลที่จะเชื่อมต่อ Metaverses ต่าง ๆ เข้าด้วยกันที่จะทำให้ทุกคนสามารถมาสร้างความฝันดี ๆ ร่วมกัน มาอยู่ในสังคมและโลกเสมือนที่มีแต่ความสุขและการทำความดีไปด้วยกัน อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตอีกด้วย
คุณอธิศ นันทวรุณ กรรมการบริหาร ทรานส์ลูเซีย กล่าวว่า “ทรานส์ลูเซีย” (Translucia) ต้องการนำเสนอ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ด้วยการนำมาเติมเต็มกับทุกภาคส่วนธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งความท้าทายหลักคือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้ร่วมกันบนแพลตฟอร์มทรานส์ลูเซียให้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มธุรกิจหรือแบรนด์ต่าง ๆ กับผู้บริโภค เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถดึงข้อดีในการแชร์ประสบการณ์ในโลกเสมือนจริงไปใช้ในการดำเนินชีวิต โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มีนาคม 2566นี้ ภายในงาน “The Universe of Happiness”
ทั้งนี้กลยุทธ์สำคัญในการหลอมรวมผู้คนที่สามารถเข้าถึงโลกเสมือนและมีความเข้าใจอยู่เดิมแล้วให้เป็นส่วนสำคัญในการบอกต่อไปยังกลุ่มคนที่ยังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์เมตาเวิร์ส คือการเปิดพื้นที่บนทรานส์ลูเซียให้กับนักพัฒนา นักลงทุน กลุ่มธุรกิจได้เข้ามาสร้างสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ใช้งานรายใหม่ได้เข้าถึงประสบการณ์ที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการเหล่านั้น สามารถเกิดการเปลี่ยนผ่าน
ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีคุณค่าและสร้างความสุขในหลากหลายมิติ โดยในแพลตฟอร์มนี้จะเน้นคอนเทนต์ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และความยั่งยืน การทำความดี การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งแพลตฟอร์มออกแบบมาให้สอดรับการเข้าใช้งานจากผู้ใช้ทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ และเข้าใจได้ง่าย
สำหรับงบลงทุนในโปรเจ็กต์ Translucia เราตั้งงบสำหรับการพัฒนา core infrastructure และ base content ไว้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับเฟสแรก ซึ่งยังไม่รวมมูลค่าที่ business partner ต่างๆ จะเข้ามาร่วมสร้าง metaverse ในแบบของแต่ละธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเชื่อว่า ในปี 2573 เราจะสามารถสร้างมูลค่าธุรกิจให้กับอุตสาหกรรม Metaverse ในภาพรวมได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านล้านบาท
คุณพันธบัตร สันติมากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ ทรานส์ลูเซีย กล่าวเสริมว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์ยังคงเป็นคอนเทนต์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต ดังนั้นการทรานส์ฟอร์มเมชั่นคอนเทนต์ที่มีอยู่เข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่ที่ใช้ web 3.0 นั้น การใช้ ทรานสลูเซีย คือจิ๊กซอว์สำคัญ ด้วยการที่ บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด วางเป้าหมายจุดยืนที่ชัดเจนในการเป็นบริษัทที่พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Innovative Company) โดยใช้ธูรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์คอนเทนต์ในการเติมเต็มทุกภาคส่วนธุรกิจให้แข็งแกร่ง
ทั้งนี้เป้าหมายหลักของการทรานส์ฟอร์มโมเดลธุรกิจครั้งนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจต่างๆ ให้เห็นความสำคัญของการใช้ Metaverse ในหลากหลายมิติ เช่น กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดย Virtual Being หรือ การมีตัวตน ตลอดถึงการมีประชากรบนโลกเสมือน เป็นสิ่งที่สำคัญในอนาคต เนื่องจากผู้คนเข้าถึงโลกเสมือนมากขึ้นในการทำกิจกรรมบนออนไลน์ ซึ่ง ทรานสลูเซีย คือพื้นที่เชื่อมต่อธุรกิจและผู้คน เพราะรูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี ผู้คนสนใจการได้ทดลองประสบการณ์ใหม่และกลุ่มธุรกิจสนใจความคิดเห็นของผู้บริโภคในการนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ดังนั้นการมีแพลตฟอร์มเพื่อให้กลุ่มธุรกิจองค์กรได้เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อบอกเล่าบริการต่างๆ ที่มีกับผู้บริโภคโดยตรงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกและลองใช้สินค้านั้นแบบ Virtual Being ได้ก่อนการซื้อจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าที่มีต่อแบรนด์นั้น ๆ ลูกค้ามีความสุข แบรนด์มีความสุขด้วยเช่นกัน
ด้าน คุณจิรญา ทองเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาดและงานขาย บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำการตลาดในส่วนคอนเทนต์บันเทิงของ ทีแอนด์บี จะยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพในมาตรฐานระดับโลกร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งปีนี้เราได้ลงทุนผลิต ซีรี่ส์ แอนนิเมชั่นและภาพยนตร์ ซึ่งจะทยอยออกสู่สายตาแฟน ๆ ได้แก่ Legend of The Two Heroes, Out of The Nest, The Meeps, Tasty Tales of The Food Truckers, FriendZspace อีกทั้งยังร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ไทยกับ Studio House ชั้นนำจากประเทศจีนเรื่อง Start It Up วันสตาร์ท น็อนสต็อป (นำแสดงโดย ชานน สันตินธรกุล, โจ๊ก โซคูล – กรภพ จันทร์เจริญ และนักแดงชาวจีน ปีเตอร์ เซิ่งอี้หลุน ฯลฯ) ซึ่งมีคิวเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2566 นี้ นอกจากนี้ T&B ยังเป็น Distributor โดยผลงานที่ผ่านมา ทีแอนด์บีฯ ได้มีการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศมาฉายให้แฟนภาพยนตร์ได้ชมกันไปแล้ว อาทิ Vanguard, Ne Zha (นาจา), เฮย ภูตแมวมหัศจรรย์, The Misfits, Josee, The Tiger and The Fish, Tokyo Revengers, Dog, Book of Love, Fireheart, Notre Dame on Fire, The Burning Sea, The Vesper, Moon Man และยังมีภาพยนตร์ที่เตรียมเข้าฉายในเดือนเมษายนนี้ ได้แก่ อาตมาฟ้าผ่า (ทีแอนด์บี ร่วมทุนสร้างกับ เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และ เอ็ม พิคเจอร์ส) และภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่ได้ Jake Gyllenhaal นำแสดงเรื่อง The Covenant สำหรับในปีนี้ยังมีซีรี่ส์ แอนิเมชั่นและภาพยนตร์ที่จ่อคิวรอฉายทั้งในโรงภาพยนตร์ และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมาย
สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจนั้น เราได้ร่วมทุนสร้างซีรี่ส์ แอนิเมชั่นกับสตูดิโอชั้นนำจากประเทศจีน อาทิ Wanda Group, Shanghai Media Group และ Sunac Culture นอกจากนี้ ในประเทศไทยเรายังได้ร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับหลากหลายบริษัทที่มีชื่อเสียง ล่าสุดเราได้จับมือกับ ไซมอน ฟูลเลอร์ ร่วมทุนสร้างโปรเจกต์ THE MEEPS และอีกหลายโปรเจ็กต์ในอนาคต โดยเม็ดเงินลงทุนร่วมกับต่างประเทศ ในปี 2566 จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท