ประเด็นน่าสนใจ
- JobsDB เผยแนวโน้มอัตราเงินเดือนปี 65 ชี้สายงานไอทีเปย์เงินเดือนเพิ่มขึ้นอันดับ 1 SMEs ปรับเงินเดือนสู้บริษัทใหญ่ หวังดึงคนเก่งพัฒนาองค์กร
- อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอทีดีมานต์สูงสุด
- สายงานการขายและการตลาด ยังคงประกาศรับสมัครมากเป็นอันดับ 1
จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) แพลตฟอร์มหางาน เผยรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2565 (Salary Report 2022) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง ประเทศไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนค่าเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ 43.1%
คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่าน ๆ มา ส่งผลให้ธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลายธุรกิจประยุกต์นำอุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบดำเนินการภายในองค์กรเพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ส่งผลให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอทีภายในประเทศเกิดการขยายตัว และความต้องการบุคลากรจากผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย”
โดยจากผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอที (Computer/IT) มีการประกาศรับสมัครงานสูงสุดมากกว่า 12,200 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มของ จ๊อบส์ดีบี ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา
สำหรับสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งวัดจากจำนวนประกาศรับสมัครงานรวมทุกอุตสาหกรรมมากถึง 26,300 ตำแหน่ง ในปี 2564 ยังคงเป็นสายงานด้านการขายและการตลาด (Sales/Marketing) เช่นเดียวกับปี 2563
5 อันดับสายงาน เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้น
“สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคเริ่มมีการเปรียบเทียบสินค้ามากขึ้นทั้งในแง่ของคุณภาพ ราคา และประโยชน์ใช้สอยเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ อีกทั้ง เมื่อมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ e-Commerce และโลจิสติกส์ รวมถึงระบบจัดส่งมากขึ้น ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ สร้าง Brand Loyalty และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ” คุณดวงพร กล่าวเสริม
หากกล่าวถึงภาพรวมการปรับเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนในประเทศไทย โดยแบ่งตามสายงาน พบว่า มีหลายสายงานได้รับการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน อาทิ
- สายงานไอที ที่ได้รับการปรับเงินเดือนสูงที่สุดถึง 41%,
- งานขาย งานบริการลูกค้า และงานการตลาด รวมถึงงานการศึกษา และการฝึกอบรม เงินเดือนเพิ่มขึ้น 40%
- สายงานสุขภาพ และความงาม เงินเดือนเพิ่มขึ้น 39% เป็นต้น
นอกจากนี้ จากผลสำรวจอัตราเงินเดือน หากเปรียบเทียบทุกอุตสาหกรรมและแบ่งตามระดับงาน พบว่าในแต่ละระดับงาน มีอุตสาหกรรมที่เสนออัตราเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับ ดังนี้
ระดับเจ้าหน้าที่ (Entry Level)
อันดับที่ 1 : อุตสาหกรรมไอที, การธนาคารและการเงิน, โทรคมนาคม เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 32,500 บาท
อันดับที่ 2 : อุตสาหกรรมประกันภัย เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 30,000 บาท
อันดับที่ 3 : อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 27,500 บาท
ระดับหัวหน้างาน (Manager)
อันดับที่ 1 : อุตสาหกรรมประกันภัย เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 62,500 บาท
อันดับที่ 2 : อุตสาหกรรมไอที, การธนาคารและการเงิน, โทรคมนาคม, น้ำมันและก๊าซ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 57,500 บาท
อันดับที่ 3 : อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์, Trading และจัดจำหน่าย, อาหารและเครื่องดื่ม เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 50,000 บาท
ระดับผู้จัดการ / อาวุโส (Senior Executive)
อันดับที่ 1 : อุตสาหกรรมโทรคมนาคม เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 82,500 บาท
อันดับที่ 2 : อุตสาหกรรมไอที, ประกันภัย, การธนาคารและการเงิน, โรงแรม บริการจัดเลี้ยง เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 80,000 บาท
อันดับที่ 3 : อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อสังหาริมทรัพย์, Trading และจัดจำหน่าย, อาหารและเครื่องดื่ม, ขนส่ง เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 72,500 บาท
ระดับผู้บริหารระดับสูง (C-level Management)
อันดับที่ 1 : อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 125,000 บาท
อันดับที่ 2 : อุตสาหกรรมไอที, ประกันภัย, การผลิต เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 120,000 บาท
อันดับที่ 3 : อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 117,500 บาท
เมื่อเทียบการปรับตัวของอัตราเงินเดือนปีล่าสุดเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่า อุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีการปรับเงินเดือนเพิ่มสูงสุดแบ่งตามระดับงาน และสายงาน ได้แก่
- อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property & Real Estate) ปรับเพิ่มค่าตอบแทนพนักงานระดับผู้จัดการ / อาวุโส (Senior Executive) ในสายงานไอที สูงสุดในปี 2564 โดยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 34.6%
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ปรับค่าตอบแทนให้แก่พนักงานระดับหัวหน้างาน (Manager) ในสายงานไอที เช่นเดียวกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 27.8%
- อุตสาหกรรมขนส่ง (Transportation) มีการปรับขึ้นค่าตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ให้แก่พนักงานระดับผู้จัดการ / อาวุโส (Senior Executive) ในสายงานบริการเฉพาะทาง โดยปรับขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 27.1%
ขนาดขององค์กรอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดอัตราเงินเดือนอีกต่อไป
ผลสำรวจในปีนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงนัยยะสำคัญอีกประเด็นหนึ่งว่า ขนาดขององค์กรอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดอัตราเงินเดือนอีกต่อไป โดยทั่วไปแล้ว องค์กรขนาดใหญ่มักจะเสนอเงินเดือนที่สูงกว่า แต่ปัจจุบัน บางสายงานที่เป็นที่ต้องการ หรือต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญ ก็มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจ SMEs จะเสนอเงินเดือนที่มากกว่าเพื่อให้เกิดการจ้างงาน โดยจากข้อมูลเชิงลึกของเงินเดือนในธุรกิจ SMEs เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ พบว่า อุตสาหกรรม SMEs ที่มีการเติบโตมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมประกันภัย (Insurance) ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 33.3% และประเภทงานที่มีการเติบโตมากที่สุดคือ งานท่องเที่ยว โรงแรม และ F&B (Hotel/Restaurant) ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนสูงสุดที่ 18.2%
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนจากทุกสายงานและทุกระดับงานระหว่าง SMEs และองค์กรขนาดใหญ่ พบว่า SMEs เสนอค่าตอบแทนให้ ผู้จัดการ/อาวุโส (Senior Executive) ในสายงานการผลิต และผู้บริหารระดับสูง (C-Level Management) ในสายงานธุรการและทรัพยากรบุคคล มากกว่าองค์กรขนาดใหญ่อีกด้วย
ที่มา : จ๊อบส์ดีบี ประเทศไทย