ประเด็นที่น่าสนใจ
- คมนาคม ส่งผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตัวบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้เเล้ว รวมทั้งหมด 2,824 คน
- ได้เเก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา
- โดยใช้รถ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของ รฟท. ซึ่งเป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ในการขนส่งผู้ป่วย
- กำหนดยานพาหนะให้เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วยที่ให้สอดคล้องกับรถไฟหรือรถบัส ในรูปแบบของ Feeder
- เล็งใช้โมเล็งใช้โมเดลส่งคนกลับบ้านรักษาตัวในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
…
คมนาคม ส่งผู้ป่วยโควิดกลับรักษาตัวบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้ รวม 2,824 คน เรียบร้อยเเล้ว
วันนี้ (6 ส.ค. 64) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามการเตรียมการส่งผู้ป่วย “โควิด-19” กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)ตอนล่าง (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา) ว่าภาพรวมตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.- 5 ส.ค.64 ได้ส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างแล้ว รวมทั้งสิ้น 2,824 คน เเบ่งออกเป็น
- นครราชสีมา ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 404 คน
- บุรีรัมย์ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 458 คน
- สุรินทร์ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 395 คน
- ศรีสะเกษ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 211 ราย
- อุบลราชธานี ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 778 คน
- ยโสธร ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 550 คน
- อำนาจเจริญ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับ รวม 28 คน
ใช้รถ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของ รฟท. ซึ่งเป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ขนส่งผู้ป่วย
ทั้งนี้ ในการขนส่งผู้ป่วยดังกล่าวนั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ใช้รถ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของ รฟท. ซึ่งเป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิด มีระบบปรับอากาศเหมือนกับบนเครื่องบินบริการ
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำรถบัสโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รับส่งผู้ป่วยจากกรมการขนส่งทหารบก (บางเขน) ไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 2 และ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการปรับปรุงรถโดยสาร และกั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และห้องโดยสาร พร้อมปรับระบบปรับอากาศบนรถ นำพลาสติกมาหุ้มบริเวณเบาะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างเดินทาง
รวมทั้งกรมการขนส่งทางบกดำเนินการรับผู้ป่วยจากจังหวัดนนทบุรี ไปส่งที่ศูนย์ขนส่งทหารบก บางเขน เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 และได้มีการสนธิกำลังกับหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยให้สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก และปลอดภัย
กำหนดใช้ยานพาหนะ ในรูปแบบ Feeder
นายศักดิ์สยาม เผยอีกว่าได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดยานพาหนะให้เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วยที่จะเดินทาง ให้สอดคล้องกับรถไฟ หรือรถบัสโดยสารแต่ละเที่ยว ในรูปแบบของ Feeder ก่อนที่ส่งผู้ป่วยขึ้นรถบัสโดยสารหรือรถไฟไปยังจังหวัดปลายทางต่อไป โดยให้ บขส. จัดเตรียมรถบัสโดยสาร และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการช่วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการจัดหารถสองแถว หรือรถสามล้อที่มีการปรับแต่งซีลกั้นตามมาตรฐานสาธารณสุข
โดยให้ดำเนินการวางแผนร่วมกันระหว่างจังหวัด และ สพฉ. สำหรับงบประมาณในการลำเลียงผู้ป่วยข้างต้น ให้ใช้งบประมาณของ สพฉ. รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางบก พิจารณาการหาแหล่งงบประมาณหรือกองทุนมาใช้ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย
เล็งใช้โมเดลส่งคนกลับบ้านรักษาตัวในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
อีกทั้ง ให้ สพฉ. และกระทรวงคมนาคม บูรณาการในการกำหนดจุดรับ-ส่ง ผู้ป่วยให้มีความชัดเจน และหลีกเลี่ยงการรับส่งในที่ที่มีประชาชนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง รวมถึงให้ทุกจังหวัดสรุปจำนวนเตียงว่างของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอยของแต่ละจังหวัด เข้ามาใน Group Line เพื่อให้ สพฉ. ใช้ประกอบการวางแผนการจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนา ขอให้ใช้แนวทางการอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยที่ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัดที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป