9 ข้อสังเกตุ ‘ความเหมือนและความต่าง’ ระหว่าง น้ำท่วมเจิ้งโจว VS กรุงเทพ

9 ข้อสังเกตุ ‘ความเหมือนและความต่าง’ ระหว่าง น้ำท่วมเจิ้งโจว VS กรุงเทพ สู่การวางแผนการออกแบบกรุงเทพมหานครในอนาคต

Home / Other / 9 ข้อสังเกตุ ‘ความเหมือนและความต่าง’ ระหว่าง น้ำท่วมเจิ้งโจว VS กรุงเทพ

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ นายกสภาวิศวกร ชวนออกแบบอนาคตเมืองผ่าน 9 ข้อสังเกตุ ‘ความเหมือนและความต่าง’ ระหว่าง น้ำท่วมเจิ้งโจว VS กรุงเทพ สู่การวางแผนการออกแบบกรุงเทพมหานครในอนาคต ดังนี้ ความเหมือน เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เป็นมหานครขนาดใหญ่ เป็นเมืองที่พยากรณ์สภาพอากาศได้ยาก เป็นเมืองที่มีการก่อสร้างต่อเนื่อง ความต่าง อัตราการทรุดตัวของพื้นดิน พื้นที่สีเขียว ความรุนแรงของเหตุการณ์ แผนรองรับหรือซับน้ำ มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

ความเหมือนและความต่าง ระหว่าง น้ำท่วมเจิ้งโจว VS กรุงเทพ

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้เมืองเจิ้งโจว เมืองหลักของมณฑล เหอหนาน น้ำท่วมจมมิด พบจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้อพยพไร้บ้านเรือนนับแสน อีกทั้งยังสูญเสียทางมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่มักจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวหรือตั้งตัวแล้วก็ไม่พอ แม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และล่าสุดในจีน! ดังนั้น หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมภาวะวิกฤตในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ผ่านการตั้งข้อ 9 สังเกตุทั้งความเหมือนและความต่าง ระหว่างกรุงเทพฯ และ เมืองเจิ้งโจว บนพื้นฐานของข้อมูลจำเพาะของทั้งสองเมือง อันนำไปสู่การวางแผนการออกแบบกรุงเทพมหานครในอนาคต ดังต่อไปนี้

ภาพจาก: #Zhengzhou

“ความเหมือน” ระหว่าง กรุงเทพฯ และ เมืองเจิ้งโจว

• เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพราะภูมิประเทศของทั้งสองเมืองเป็นพื้นที่ “ลุ่มต่ำและมีแม่น้ำผ่าน” โดยกรุงเทพฯ อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเจิ้งโจวอยู่ในลุ่มแม่น้ำเหลือง ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ทั้งจากน้ำฝน และน้ำหลาก

• เป็นมหานครขนาดใหญ่ ทั้งสองเมืองมีจำนวนพลเมืองเกิน 10 ล้านคน จึงมีความหนาแน่นของอาคารพาณิชย์ บ้านพักอาศัย ถนนคอนกรีต เพราะมีการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมีพื้นที่ซับน้ำหรือรองรับน้ำจำกัด

• เป็นเมืองที่พยากรณ์สภาพอากาศได้ยาก จากการมีสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และยังพยากรณ์สภาพอากาศได้ยาก เหตุจากทั้งภาวะโลกร้อน และทั้งจากการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว

• เป็นเมืองที่มีการก่อสร้างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าทั้งสองเมืองนี้ มีเครือข่ายระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าใต้ดิน เช่นกัน อีกทั้งยังมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

“ความต่าง” ระหว่าง กรุงเทพฯ และ เมืองเจิ้งโจว

• อัตราการทรุดตัวของพื้นดิน กรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน ในอัตราที่สูงกว่าเจิ้งโจว ปัจจุบันจึงอยู่ในระดับต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และยังมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง การระบายน้ำจึงทำได้ยากกว่า

• พื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนพลเมืองน้อยกว่าเมืองเจิ้งโจว อีกทั้งยังมีพื้นที่ซับน้ำโดยธรรมชาติน้อยกว่าเมืองเจิ้งโจวเป็นอย่างมาก

• ความรุนแรงของเหตุการณ์ เมืองเจิ้งโจว อยู่ในลุ่มแม่น้ำเหลือง หรือแม่น้ำวิปโยค ซึ่งมีประวัติน้ำท่วมในอดีตโหดร้ายกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก

• แผนรองรับหรือซับน้ำ เมืองเจิ้งโจว และมณฑลเหอหนาน ได้ทำโครงการ “เมืองซับน้ำ” หรือ Sponge City มาตั้งแต่ยุคท่านหู จิ่นเตา ประธานาธิบดีสายวิศวกรโยธาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับ ซับน้ำ หากมีฝนตกหนัก น้ำหลาก

• มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เมืองเจิ้งโจว และมณฑลเหอหนาน มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมจำนวนมาก และยังก่อสร้างมาถึงปัจจุบัน เพื่อบริหารจัดการปริมาณน้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้เมืองเจิ้งโจว และมณฑลเหอหนาน จะมีแผนรองรับน้ำที่เป็นรูปธรรมแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งสวนทางกับกรุงเทพฯ ที่ยังไม่มีการวางอนาคตเมืองเพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและเครือข่าย ก่อนถึงกรุงเทพ มีเพียงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เท่านั้นที่ได้ก่อสร้างล่าสุด เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ไทยจะสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

“ดังนั้น เพื่อให้ประเด็นดังกล่าวเกิดภาพชัดและเข้าใจได้ง่าย นั่นคือ ขนาดเมืองที่มีการเตรียมพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก อย่างเมืองเจิ้งโจว ยังต้านทานไม่ได้ แล้วกรุงเทพมหานคร ถึงแม้จะอยู่ในลุ่มน้ำที่มีประวัติความรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ไม่อาจแน่ใจว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น ดังที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก ขณะที่ความพร้อมในการรับสถานการณ์ยังเป็นคำถาม… ความรู้ ความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ทำให้คนไทยอยู่อย่างไม่ประมาท และเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตอภิมหาน้ำท่วม ที่ไม่มีใครกล้าที่จะบอกได้ว่า ธรรมชาติจะจัดหนักกับมนุษย์เมื่อไหร่!!!” ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ นายกสภาวิศวกร เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/suchatvee.ae