‘ความบังเอิญสุดเร้นลับ’ ระหว่างวัฒนธรรมซานซิงตุย-มายาโบราณ

นักวิจัยได้เผยถึงความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญของทั้งสองวัฒนธรรม

Home / Other / ‘ความบังเอิญสุดเร้นลับ’ ระหว่างวัฒนธรรมซานซิงตุย-มายาโบราณ

แม้จะอยู่ไกลกันคนละทวีป ทว่าความลึกลับของอารยธรรมมายาโบราณและวัฒนธรรมซานซิงตุยในจีน ซึ่งล้วนเป็นอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นสิ่งที่น่าค้นหาไม่ต่างกัน

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักโบราณคดีจีนประกาศการค้นพบครั้งสำคัญที่แหล่งโบราณคดีซานซิงตุย อันได้แก่การพบหลุมบูชายัญใหม่ 6 หลุม และโบราณวัตถุกว่า 500 ชิ้น ที่มีอายุราว 3,000 ปี แหล่งโบราณคดีซานซิงตุยตั้งอยู่ในเมืองในเมืองกว่างฮั่น มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ห่างจากเฉิงตูเมืองเอกของมณฑลไปประมาณ 60 กิโลเมตร ซานซิงตุยเป็นดินแดนของรัฐสู่ ที่เก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 4,800 ปี และรุ่งโรจน์อยู่นานกว่า 2,000 ปี และมีความเป็นมายาวนานกว่าวัฒนธรรมมายาโบราณ

อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักโบราณคดี ความเร้นลับน่าพิศวงของทั้งสองวัฒนธรรมข้างต้นยังมีสิ่งอื่นนอกเหนือจากห้วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน พวกเขาเล่าให้สำนักข่าวซินหัวฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่านักวิจัยได้เผยถึงความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญของทั้งสองวัฒนธรรม ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่เหนือมิติของกาลเวลา

แฟ้มภาพซินหัว : หน้ากากทองคำที่ถูกพบในหลุมบูชายัญหมายเลข 1 ในปี 1986 และถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย ในเมืองกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บันทึกภาพวันที่ 17 มี.ค. 2021

ท้องฟ้าผืนเดียวกัน

มาร์โกอัน โตนิโอ ซานโตส (Marco Antonio Santos) ผู้อำนวยการแหล่งโบราณคดีชิเชน อิตซา (Chichen Itza) ในเม็กซิโก ผู้วิจัยวัฒนธรรมซานซิงตุยและมายามาอย่างยาวนาน ให้ความเห็นไว้ว่าทั้งสองอารยธรรมก่อกำเนิดขึ้นในสถานที่ที่มีพิกัดละติจูดใกล้เคียงกันและมีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายกัน “คนโบราณในซานซิงตุยและมายามองเห็นท้องฟ้าแบบเดียวกัน พวกเขามองเห็นดาวดวงเดียวกันบนเส้นขอบฟ้า” ซานโตส กล่าว

ด้านหลี่ซินเหว่ย นักวิจัยจากสถาบันโบราณคดีจากสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) เชื่อว่าเส้นละติจูดได้ให้แนวคิดที่ก้าวหน้าในการศึกษาความคล้ายคลึงกันระหว่างสองวัฒนธรรม เช่น การปลูกพืช เพาะปลูก และเก็บเกี่ยว ตามระยะการโคจรของดวงจันทร์ รวมถึงสัญญาณทางโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นประเพณีของอารยธรรมเกษตรกรรม

“พวกเขามองเห็นท้องฟ้าที่พร่างพรายไปด้วยดาวดวงเดียวกัน และอาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศที่คล้ายกัน” นักโบราณคดีชาวจีนอธิบายถึงความสัมพันธ์ด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของสองวัฒนธรรม

ปริศนาต้นไม้

ชิ้นส่วนของต้นไม้สัมฤทธิ์ หนึ่งในวัตถุโบราณที่จีนเพิ่งขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีซานซิงตุย ทำให้นักโบราณคดีนึกถึงสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันของชาวมายาโบราณ

ซานโตสกล่าวว่าชิ้นส่วนของต้นไม้ที่สัมฤทธิ์ในซานซิงตุย มีความคล้ายคลึงกับต้นนุ่นศักดิ์สิทธิ์ในอารยธรรมมายา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการรวมเป็นหนึ่งของสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก ของอารยธรรมนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองในภูมิภาคเมโสอเมริกา (Mesoamerica) หรืออเมริกากลาง

แฟ้มภาพซินหัว : ต้นไม้สัมฤทธิ์ที่ถูกพบในหลุมบูชายัญหมายเลข 2 ในปี 1986 และถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย ในเมืองกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บันทึกภาพวันที่ 17 มี.ค. 2021

“สิ่งที่ต้นไม้ของสองทั้งวัฒนธรรมสื่อความหมายถึงนั้นคล้ายกัน ซึ่งเป็นความคล้ายกันที่สำคัญมาก” ซานโตสกล่าว มุมมองนี้ของซานโตสตรงกันกับหลี่ซินเหว่ย โดยหลี่กล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างชี้ว่าอารยธรรมของชาวมายาและจีนอาจสืบทอดความเชื่อทางศาสนาแบบชามอนหรือหมอผี (shamanic religious) ในยุคหินเก่าตอนปลายมาบางส่วน

แนวคิดการเป็นศูนย์กลางของโลก (Axis Mundi) ของศาสนาแบบหมอผีนั้นแบ่งจักรวาลออกเป็นสามระดับ ได้แก่ ยมโลก โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์ โดยมีต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างท้องฟ้ากับผืนดิน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองสามารถสื่อสารกับเทพเจ้าได้

ในโบราณสถานปาเลงเก (Palenque) ซึ่งเป็นนครของอาณาจักรมายาโบราณในเม็กซิโก นักโบราณคดีได้ขุดพบโลงศพขนาดใหญ่พร้อมฝาโลงที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงในหลุมฝังศพหลุมหนึ่ง ฝาโลงแสดงความหมายว่ากษัตริย์ผู้ครองนครรัฐแห่งนี้ ถือกำเนิดขึ้นจากยมโลกและขึ้นสู่สรวงสวรรค์ผ่านกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ดังกล่าว

การแลกเปลี่ยนด้านเทคนิค

ซานโตส ผู้ซึ่งติดตามความคืบหน้าทางโบราณคดีของแหล่งโบราณคดีซานซิงตุยมาเป็นเวลานาน รู้สึกตื่นเต้นอย่างมากกับการขุดค้นเมื่อเร็วๆ นี้ เขากล่าวว่าระบบปฏิบัติการแบบมัลติฟังก์ชัน “ทำให้การขุดค้นนั้นเหมือนกับการผ่าตัด”

ระหว่างการขุดค้นครั้งล่าสุดที่ซานซิงตุย มีการติดตั้งห้องปฏิบัติการจำนวนหนึ่ง “ห้องขุดค้น” เหล่านี้มีอุปกรณ์ต่างๆ ครบครันเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ตลอดจนการสแกน บันทึก และวิเคราะห์สถานที่ขุดค้นแบบสามมิติได้อย่างทันการ

เทคโนโลยีที่ใช้ขุดงาช้างในซานซิงตุย เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงมากสำหรับหลี่ เพราะมีการใช้วัสดุให้ความชื้นชนิดใหม่แก่พื้นผิว เพื่อสร้างความชื้นแบบเดียวกันกับที่งาช้างเหล่านี้เคยมีขณะถูกฝังอยู่ใต้ดินเมื่อหลายพันปีก่อน

ซานโตสกล่าวว่าอารยธรรมมายาตั้งอยู่ในคาบสมุทรยูคาตัน ซึ่งเป็นพื้นที่ชื้นและมักมีฝนตก งานเก็บรักษาชิ้นส่วนกระดูกต่างๆ หลังการขุดค้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก “เราสามารถเรียนรู้จากโครงการโบราณคดีของจีนได้อีกมาก”

วัฒนธรรมพี่น้อง

ซานซิงตุยเป็นที่รู้จักในฐานะ “หนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20” ขณะที่นักประวัติศาสตร์หลายคนเรียกชาวมายาว่าเป็น “ชาวกรีกแห่งโลกใหม่” (the Greeks of the New World)

หลี่ซึ่งเคยสำรวจพื้นที่ห่างไกลของชาวมายาอยู่หลายครั้งและเคยเป็นผู้นำทีมนักโบราณคดีร่วมระหว่างจีน-ฮอนดูรัส เชื่อว่าอารยธรรมจีนและอารยธรรมมายาได้แสดงให้เห็นถึง “ความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่ง” โดยเขาเคยใช้เทคโนโลยีจีนเพื่อช่วยงานขุดค้นที่เมืองโคปัน (Copan) แหล่งอารยธรรมมายาในประเทศฮอนดูรัส

แฟ้มภาพซินหัว : เครื่องสัมฤทธิ์บางส่วนที่ถูกพบในหลุมบูชายัญหมายเลข 3 ในเมืองกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บันทึกภาพวันที่ 16 มี.ค. 2021

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกันกับเทคโนโลยีด้านโบราณคดีของจีน หลี่พบว่าอารยธรรมมายาช่วยให้เขาเข้าใจการก่อตัวและพัฒนาการของอารยธรรมจีนได้ดียิ่งขึ้น และทำให้เขารู้สึกตื่นตะลึงมากขึ้นด้วย “สังคมมนุษย์มีเส้นทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรเคารพและรักษาสถานะการพัฒนาที่ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนนี้เอาไว้” หลี่แสดงความเห็น

ซานโตสกล่าวว่า “ทุกๆ ครั้งที่ความรู้ทางวัฒนธรรมของเราเพิ่มขึ้น … มนุษย์เราล้วนมีความเป็นพี่น้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ภราดรภาพจะยังคงอยู่ในวัฒนธรรมของพวกเรา”