ซาอุดีอาระเบีย นักโบราณคดี มนุษย์โบราณ สุนัขบ้าน

นักโบราณคดีค้นพบหลักฐาน “สุนัขบ้าน” เก่าแก่ที่สุดในอาระเบีย เมืองอัลอูลา ซาอุดีอาระเบีย

ทีมนักโบราณคดีในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ค้นพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการเลี้ยงสุนัขบ้านของมนุษย์โบราณ

Home / Other / นักโบราณคดีค้นพบหลักฐาน “สุนัขบ้าน” เก่าแก่ที่สุดในอาระเบีย เมืองอัลอูลา ซาอุดีอาระเบีย
  • ผลวิจัยชี้กระดูกสุนัขที่พบในหลุมฝังศพทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย มีอายุเก่าแก่ราว 4200-4000 ปีก่อนคริสตกาล
  • จากการสำรวจพบว่ามนุษย์โบราณในภูมิภาคนี้มีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด โดยตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีมีการฝังศพในลักษณะอนุสรณ์สถาน ซึ่งตั้งใจให้มองเห็นชัดเจน

นักโบราณคดีค้นพบหลักฐาน “สุนัขบ้าน” เก่าแก่ที่สุดในอาระเบีย

ทีมนักโบราณคดีในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ค้นพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการเลี้ยงสุนัขบ้านของมนุษย์โบราณ การค้นพบดังกล่าวเป็นผลสำเร็จของหนึ่งในหลายโครงการภายใต้การสำรวจและการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Royal Commission for AlUla (RCU)

คณะนักวิจัยค้นพบกระดูกสุนัขในหลุมฝังศพซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในอาระเบีย โดยมีอายุใกล้เคียงกับหลุมฝังศพหลายแห่งที่ค้นพบในภูมิภาคเลอแวนต์ (Levant) หลักฐานบ่งชี้ว่ามีการใช้หลุมฝังศพดังกล่าวเป็นครั้งแรกราว 4300 ปีก่อนคริสตกาล และใช้ในการฝังศพต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 600 ปี ตั้งแต่ช่วงยุคหินใหม่ (Neolithic) ถึงยุคทองแดง (Chalcolithic) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์โบราณอาจมีความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับคน สถานที่ และความสัมพันธ์ระหว่างกัน

“สิ่งที่เราค้นพบจะเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อยุคหินใหม่ในตะวันออกกลาง เพราะความทรงจำในลักษณะนี้ นั่นคือการที่มนุษย์โบราณรู้ว่าเครือญาติของตนเองถูกฝังไว้ที่ไหนต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปี เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในภูมิภาคนี้” Melissa Kennedy ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Aerial Archaeology in the Kingdom of Saudi Arabia (AAKSAU) โปรเจคอัลอูลา กล่าว
“อัลอูลาคือจุดที่ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของวิวัฒนาการของมนุษย์ทั่วตะวันออกกลาง” Hugh Thomas ผู้อำนวยการ AAKSAU กล่าว

นี่คือหลักฐานเกี่ยวกับสุนัขบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในอาระเบีย โดยเก่าแก่กว่าที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ราว 1,000 ปี
ผลการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Field Archaeologyทีมงานที่ประกอบด้วยสมาชิกชาวซาอุดีอาระเบียและชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับหลุมฝังศพเหนือพื้นดินสองจุดที่คาดว่าสร้างขึ้นในช่วง 5000-4000 ปีก่อนคริสตกาล และตั้งอยู่ห่างกัน 130 กิโลเมตร โดยแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในที่สูงแถบภูเขาไฟ และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในที่รกร้างแห้งแล้ง โดยทั้งสองจุดอยู่เหนือพื้นดิน ซึ่งค่อนข้างแปลกเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์อาระเบียในยุคนั้น และมีการจัดวางให้มองเห็นชัดเจนที่สุด

ทีมวิจัยค้นพบหลุมฝังศพด้วยภาพจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศจากเฮลิคอปเตอร์ จากนั้นการขุดค้นได้เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2018 หลุมฝังศพที่ตั้งอยู่ในที่สูงแถบภูเขาไฟเป็นจุดที่ค้นพบกระดูก 26 ชิ้นของสุนัขตัวหนึ่ง พร้อมกับกระดูกของมนุษย์ 11 คน โดยเป็นผู้ใหญ่ 6 คน วัยรุ่น 1 คน และเด็ก 4 คน กระดูกของสุนัขพบร่องรอยของโรคข้ออักเสบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุนัขตัวนี้อยู่กับมนุษย์จนมีอายุค่อนข้างมากหรืออายุมาก หลังจากรวบรวมกระดูกทั้งหมด ทีมงานต้องพิสูจน์ว่ากระดูกเหล่านี้มาจากสุนัข ไม่ได้มาจากสัตว์ชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่างเช่นหมาป่าทะเลทราย

Laura Strolin นักสัตววิทยาโบราณคดีของทีม สามารถพิสูจน์ได้ว่ากระดูกเหล่านี้เป็นของสุนัขจริง ๆ ด้วยการวิเคราะห์กระดูกจากขาหน้าซ้าย โดยความกว้างของกระดูกชิ้นนี้อยู่ที่ 21.0 มิลลิเมตร หรือเท่า ๆ กับของสุนัขโบราณตัวอื่น ๆ ที่พบในตะวันออกกลาง ขณะที่กระดูกส่วนดังกล่าวของหมาป่าในยุคเดียวกันและสถานที่เดียวกัน มีความกว้างราว 24.7 ถึง 26 มิลลิเมตร กระดูกสุนัขดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ราว 4200-4000 ปีก่อนคริสตกาล

นอกจากนั้นยังมีการค้นพบงานศิลปะบนหิน ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์ยุคหินใหม่ใช้สุนัขในการล่าแพะภูเขา (ibex) ลาป่า (wild ass) และสัตว์อื่น ๆ การขุดค้นทำให้พบสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง โดยบริเวณที่สูงแถบภูเขาไฟมีการค้นพบจี้เปลือกหอยมุกรูปทรงใบไม้ ส่วนบริเวณที่รกร้างแห้งแล้งมีการค้นพบลูกปัดหินคาร์เนเลียน คณะนักวิจัยคาดว่าจะค้นพบหลายสิ่งหลายอย่างในอนาคต อันเป็นผลมาจากการสำรวจครั้งใหญ่ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน รวมถึงการขุดค้นหลายจุดในเมืองอัลอูลาโดยฝีมือของ AAKSAU และทีมอื่น ๆ ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้การสนับสุนนของ Royal Commission for AlUla (RCU) โดยทีม AAKSAU นำโดยคณะนักวิจัยจาก University of Western Australia ในเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย

คณะนักวิจัยกล่าวว่า เมืองอัลอูลาตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีมรดกทางโบราณคดีมากมายซึ่งมีคุณค่าในระดับโลก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองอัลอูลายังไม่ได้รับการสำรวจ “บทความนี้ซึ่งกล่าวถึงการทำงานของ RCU ในเมืองอัลอูลาได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการ หลังจากนี้ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างให้ค้นพบ เพราะเรากำลังขุดลึกลงไปและขยายวงกว้างขึ้น” Rebecca Foote ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของ RCU กล่าว

สำหรับแง่มุมอื่น ๆ ของการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งยิ่งใหญ่นี้จะได้รับการนำเสนอผ่านสารคดี Architects of Ancient Arabia ทางช่อง Discovery Channel ซึ่งจะออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม ความพยายามทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ Royal Commission for AlUla ในการเชิดชูประวัติศาสตร์และมรดกของประเทศ รวมทั้งเปลี่ยนเมืองอัลอูลาให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030