โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ยังคงเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยโดยไม่รู้ตัว มีสาเหตุหลักมาจากการบริโภค ซึ่งมี น้ำตาล เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สนับสนุนโดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคน้ำตาลของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านนโยบายทางภาครัฐ และระดับพื้นที่ภาคประชาชน ครอบคลุมทั้ง 4 ภาคเกิดเป็นเครือข่ายใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy เพื่อลดความเสี่ยงต่อ NCDs และการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
จ.พะเยา เป็นหนึ่งในพื้นที่เครือข่ายที่ขับเคลื่อนการลดบริโภคน้ำตาลมาตั้งแต่ปี 2552 จาก แคมเปญ “แอวเค่ว” ชวนคนหุ่นดีเมื่อทานหวานน้อยลง ก่อนขยายผลไปยังร้านกาแฟอ่อนหวาน ผ่านเมนูทางเลือสุขภาพหวานน้อยสั่งได้ และวงล้อขนมสามสี ชวนเด็กคัดแยกขนมที่ดีต่อสุขภาพ และอันตรายต่อสุขภาพตามสีไฟสัญญาณจราจร เป็นต้น ล่าสุด ได้มีการใช้ทฤษฎีสะกิดพิชิตน้ำตาล ด้วยการใช้รูปภาพหรือข้อความชวนสะกิดให้คนสนใจลดบริโภคน้ำตาลลงได้ นำไปสู่การสร้างระบบ Self Care กันเองในชุมชน : ฮัลโหล Health Lit. โดยมาให้อสม.จับคู่บัดดี้ส่งเสริมการลดบริโภคน้ำตาลทางโทรศัพท์ อีกทั้ง ยังมีการยกระดับการทำงานด้วยโครงการ “ร้านกาแฟอ่อนหวาน ปลอดฝุ่น อุ่นใจ” ลดหวาน = ลดเผา นำเอาเรื่องไม่กินหวาน ลดบริโภคน้ำตาล ผสานกับสถานการณ์วิกฤตหมอกควัน PM2.5
ทพ.ธิติพันธุ์ อวนมินทร์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนลดการบริโภคหวานหรือน้ำตาล นั้น ทำใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนปกติที่มาใช้บริการร้านกาแฟ และกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาล สำหรับผู้มาใช้บริการ ในร้านจะมีป้ายระดับความหวาน ควบคู่ไปกับทฤษฎีสะกิด จากการใช้เฉดสีกับขนาดตัวอักษร เพื่อดึงความสนใจ และจูงใจให้เลือกสั่งจากป้ายอ่อนหวานเท่านั้น โดยป้ายนี้ก็จะทำหน้าที่สะกิดพฤติกรรมผู้บริโภคโดยไม่รู้ตัว
“เขาอาจจะมองเห็นแต่การสั่งระดับเมนูหวานน้อย มากกว่าหวานปกติ หรือหวานมากจะไม่มีทางเลือกให้เขา ซึ่งทฤษฎีนี้ใช้ได้ดีกับคนที่ลังเลอยู่ เราไม่ต้องไปสอนว่า การกินน้ำตาลไม่ดี การสะกิดเป็นการสอนเขาเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม จากไม่เคยกินหวานน้อยเลย พอมากินหวานน้อย แล้วก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด”
ในส่วนผู้ป่วยกับการลดบริโภคหวานนั้น ทต.ธิติพันธุ์ อธิบายว่า คือ การสร้างระบบ Self care กันเองในชุมชน : ฮัลโหล Health lit. โดยมาให้ อสม.จับคู่บัดดี้ส่งเสริมการลดบริโภคน้ำตาลทางโทรศัพท์ เริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหา อสม. ไม่กล้าออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยมีการจัดทำคู่มือเยี่ยมบ้านออนไลน์ สำหรับ อสม. ประกอบด้วย Tailor Key Message ชุดคำถามปัญหาเรื่องฟัน และแบบติดตามพฤติกรรม ที่จะช่วยปูพื้นฐาน อสม. ให้มีแนวคิดตรงกัน ซักถาม วิเคราะห์โรคร่วมกับทีมแพทย์พยาบาลเป็น
“ที่ รพ.สต.แม่สุข เริ่มทำในกลุ่มเสี่ยงเบาหวานก่อน ทำให้กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน กลับมาเป็นปกติ คือ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ การทำงานด้วยการขับเคลื่อนของ อสม. ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะ อสม. คือคนในชุมชน มีความใกล้ชิดกัน เขาจะไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้การขับเคลื่อนลดบริโภคน้ำตาลราบรื่น” ทพ.ธิติพันธุ์ กล่าว
นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินโครงการ ร้านการแฟอ่อนหวาน ปลอดฝุ่น อุ่นใจ โดยอาศัยหลักคิดที่ว่า ลดหวาน = ลดเผาเป็นที่รู้กันว่า น้ำตาล มาจากอ้อย และในทุกฤดูการเก็บเกี่ยว จะมีการเผาอ้อย เพราะเชื่อว่า อ้อยที่ได้จะมีความหวานมากขึ้น ซึ่งนอกจากไฟป่าแล้วการเผาในพื้นที่เกษตรก็เป็นอีกสาเหตุหลักของการเกิดวิกฤติปัญหาหมอกควัน หรือ PM2.5 ในรอบหลายปีทีผ่านมา ที่กระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพและเศรษฐกิจมหาศาล
การขับเคลื่อนงานในส่วนนี้ เป็นการยกระดับทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พะเยา ด้วยการชักชวนร้านกาแฟจำนวน 25 ร้านกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ โดยให้แต่ละร้านมีห้องปลอดฝุ่นรองรับลูกค้า มีการตรวจวัดค่า PM ภายในห้องเป็นประจำ มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศให้ห้องได้ค่ามาตรฐาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทุกร้าน “ทุกร้านต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤต PM2.5 จนลูกค้าไม่กล้าออกนอกบ้าน เราเอาเรื่องอ่อนหวานผนวกบูรณาการเข้าไป เช่นเดียวกับที่ว่า ถ้าเราลดหวานก็เท่ากับลดน้ำตาล ลดการปลูก ลดการเผาอ้อยไปด้วย” ทพ.ธิติพันธุ์อธิบาย
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย และที่ปรึกษาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มองการขับเคลื่อนลดการบริโภคหวานในภาคประชาชน ว่า การสร้างความตระหนักรู้เป็นพื้นฐานของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน “การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จึงต้องสร้างความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับประชาชน เมื่อรู้ เข้าใจแล้ว ทำได้ไหมก็จะต้องไปปรับสภาพแวดล้อม ครอบครัว หรือชุมชน ทำอย่างไรให้ความรู้นั้นนำไปสู่พฤติกรรมที่ถาวร เป็นส่วนสำคัญสุด รู้แล้ว เข้าใจ ทำได้ และต่อเนื่อง”
ทพ.สุธา กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของ จ.พะเยา ที่มีประชากรกว่า 4 แสนคน ภาคท้องถิ่น เช่น อบจ. เข้ามาหนุนเสริม มีนโยบาย สร้างความรู้ภาคประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะทำให้คนมีสุขภาพดี ห่างไกล NCDs การขับเคลื่อนของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จ.พะเยา ที่ใช้หลักสะกิด เพื่อจูงใจ ให้ทางผู้บริโภคเลือกหวานน้อย ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพชุมชนโดยมี อสม. เป็นฟันเฟืองสำคัญในพื้นที่ รวมทั้งการเชื่อมโยงการจัดการสุขภาพ กับการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งหมดล้วนเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่จะทำไปสู่ความเข้มแข็ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง
ที่สำคัญ จ.พะเยา พิสูจน์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพเป็นไปได้ ด้วยนวัตกรรม ความเข้าใจ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน