กรมกิจการเด็ก พม. เสวนาวิกฤตประชากร

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดเวทีเสวนาวิกฤตประชากร : เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส จัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “วิกฤตประชากร : เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารสังคมให้เกิดความตระหนักต่อวิกฤตประชากรไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก…

Home / PR NEWS / กรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดเวทีเสวนาวิกฤตประชากร : เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส จัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “วิกฤตประชากร : เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารสังคมให้เกิดความตระหนักต่อวิกฤตประชากรไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก และอนาคตหากประเทศไทยยังวิกฤตด้านประชากรจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา,
คุณอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน, คุณชนม์ชยนันท์ พร้อมสมบัติ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส ดำเนินรายการโดย คุณธีรเดช งามเหลือ และคุณธิดารัตน์ อนันตรกิตติ

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับการวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรจากภาวการณ์การเกิดลดลง สู่ระดับต่ำมาก วัยเด็กและวัยทำงานลดลง ผลกระทบต่อ “ครอบครัวไทย” ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุด และเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ วิกฤตประชากร ส่งผลให้ตลาดแรงงานเล็กลง ผู้ผลิตและผู้บริโภคน้อยลง นำไปสู่การถดถอยลงของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยทุกมิติ ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องหาทางรับมือทันที ด้วยเหตุนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และเพื่อเสริมการพัฒนาโครงสร้างของครอบครัวไทย และให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในบริบทของสังคมสูงวัย ผ่านการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากร 5 นโยบายสำคัญ ที่เรียกว่า 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ได้แก่ นโยบายที่หนึ่ง การพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill/Upskill) เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ นโยบายที่สอง การดูแลเรื่องของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง นโยบายที่สาม การให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงศักยภาพการทำงานมากขึ้นและต่อเนื่อง นโยบายที่สี่ การสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการตามศักยภาพและเพิ่มการจ้างงานคนพิการในทุกภาคส่วน และนโยบายที่ห้า เรื่องระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม

คุณอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนมีลูกน้อยลง เพราะไม่ต้องการแบกรับ เนื่องจากความบีบคั้นในการทำงาน การใช้ชีวิต สภาพเศรษฐกิจ การแบกรับภาระของคนวัยแรงงาน ทัศนคติในการใช้ชีวิตปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับคำว่า “ครอบครัว” น้อยลง รวมไปถึงแนวโน้มของวัยแรงงานอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้สูงอายุ ที่ต้องแบกภาระดูแลรุ่นพ่อ แม่ เมื่อจำนวนเด็กเกิดน้อยลง ยิ่งต้องทำให้เด็กมีคุณภาพ และก้าวทันโลก ประกอบกับเร่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามวัย เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานได้จริง และเป็นการยกระดับผลิตภาพ เพื่อรองรับการลดลงของประชากรในอนาคต กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงเป็นเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรในส่วนของ นโยบายที่ 2 การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน ภายใต้แนวคิด เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการ 7 โครงการสำคัญ ดังนี้
มาตรการที่ 1 : การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง
โครงการที่ 1 : โรงเรียนคุณธรรม อบรมให้ความรู้พัฒนาแก่ครูแกนนำ และขยายผลไปสู่นักเรียนแกนนำ
มาตรการที่ 2 : การดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจของเด็ก และแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์
โครงการที่ 2 : ศิลปะบำบัด : เติมความฝัน อบรมศิลปะบำบัดให้กับเจ้าหน้าที่จังหวัดชายแดนใต้ และให้เจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมให้กับเด็กกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
โครงการที่ 3 : เด็กแรกเกิดเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ เงินอุดหนุนเต็มร้อย ลงพื้นที่ค้นหาเด็กในครอบครัวที่มีคุณสมบัติรับสวัสดิการเงินอุดหนุน และการติดตามเด็กที่อายุครบเกณฑ์
มาตรการที่ 3 : การมีศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง มีความยืดหยุ่น ชุมชนช่วยจัดการได้
โครงการที่ 4 : สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง ยกระดับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย / ส่งเสริมสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเอกชนให้มีมาตรฐาน / ส่งเสริมให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ / สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่รับเด็กอายุน้อยลง
โครงการที่ 5 : สร้างผู้ดูแลเด็ก พัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็กในสถานพัฒนาพัฒนาเด็กปฐมวัย ขึ้นทะเบียนผู้ดูแลเด็กที่บ้าน
มาตรการที่ 4 : การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามวัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เป็นพลวัต
โครงการที่ 6 : เสริมสร้างพลังสภาเด็กและเยาวชน (Empowerment CYC) พัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชน / เยาวชนค้นหาตัวตน : ต้นกล้าดี/ พัฒนาเยาวชนสู่การประกอบกิจการ เพื่อสังคม (New Gen Start up เพื่อสังคม)
และมาตรการที่ 5 : การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย
โครงการที่ 7 : เยาวชนคนสร้างสื่อ สื่อสารสังคมทุกช่วงวัย


ทั้งนี้ ดย. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และองค์กระหว่างประเทศ โดยการทำ MOU ต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายและร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุมทุกมิติ และให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค ทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับ ครอบครัว ชุมชน สังคม และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อว่า มีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอีกจำหนวนหนึ่งในสังคม และเด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะประสบปัญหาความยากจน ครอบครัวไม่พร้อม เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทำให้เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา และเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมต้องเพิ่มโอกาสให้เด็กกับเด็กกลุ่มนี้เพื่อให้ได้เข้าถึงระบบการศึกษา ซึ่งการส่งเสริมการศึกษาจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่ให้หายไปได้

คุณชนม์ชยนันท์ พร้อมสมบัติ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส กล่าวเสริมว่า คนวัยทำงานในวันนี้อีกประมาณ
10 ปี ข้างหน้าจะกลายเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวิกฤตด้านประชากรที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นการที่จะปล่อยให้ภาครัฐเป็นหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เพียงฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เราในฐานะสื่อจึงมีหน้าที่ในการสื่อสารและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของวิกฤตด้านประชากรที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนในประเทศเกิดความตื่นตัว เตรียมตัวตั้งรับ และรวมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน

จากวิกฤตประชากร ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือในการดำเนินงานกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน สังคม ส่วนราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมกันดำเนินงานเพื่อสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองคุณภาพ หากพบเห็นเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงจะได้รับอันตราย หรือประสบปัญหาทางสังคม สามารถแจ้ง ขอความช่วยเหลือได้ที่ บ้านพักเด็กและคอรบครัวทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศ สายด่วนกระทรวง พม. โทร 1300 Application คุ้มครองเด็ก และ line @ esshelpme