วันที่ 3 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าและผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้านชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย เข้าร่วม
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้เข้าร่วม “พิธีมัดมือ” ซึ่งเป็นธรรมเนียมการต้อนรับของชุมชน เยี่ยมชมวิถีชีวิต เส้นทางในชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน และร่วมพูดคุยติดตามหารือ ในประเด็นการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม (การทำน้ำผึ้งโพรง การทำไร่ชา) และความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ชุมชนแห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษโดยเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ นำร่อง 1 ใน 4 พื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งชาวบ้านมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะช่วยกันรักษาสภาพดิน น้ำ ป่า ให้เหมือนอย่างเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยจัดทำข้อตกลงในการดูแลป่าชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและข้อห้ามตามประเพณี เช่น ห้ามทำไร่บริเวณป่าต้นน้ำ ตาน้ำ การทำแนวกันไฟทุกปี ทำให้ชุมชนสามารถรักษาผืนป่ากว่า 10,000 ไร่ เอาไว้อย่างสมบูรณ์ ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าว ข้าวโพด ผัก ผลไม้ ชา กาแฟ และเลี้ยงผึ้ง โดยเฉพาะกาแฟ ชา และน้ำผึ้ง เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นจำนวนมาก และมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2548และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบการจัดการทรัพยากรบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. 2566