- บีโอไอ ประกาศจุดยืนสำคัญ สนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ก้าวสู่การเป็น “ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก”
- คาดภายในปี พ.ศ. 2568 อุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จะมีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท
- บริษัทชั้นนำในไทยและต่างประเทศ พร้อมด้วยสมาคมอุตสาหกรรมจากทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมงาน “THECA 2567” ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนกว่า 30 โครงการ
ครั้งแรกในประเทศไทย การจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า (Thailand Electronics Circuit Asia – THECA) ครบวงจร ที่รวบรวมนวัตกรรม เทคโนโลยี และผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ อาคาร EH101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนานกว่า 40 ปี และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง PCB และ PCBA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 5.0 และระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงร่วมกับ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยและสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง ร่วมจัดงาน THECA เพื่อประกาศจุดยืนสำคัญต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น “ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก” โดยมีผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออโรเม็กซ์ จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
“บีโอไอจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก โดยใช้จุดแข็งของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียรและมีพลังงานสะอาดมากเพียงพอ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุน บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร และสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากภาครัฐ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่น และมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะประกาศศักยภาพของประเทศไทย และเปิดเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เติบโตและก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของโลกได้” นายนฤตม์ กล่าว
นายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท[1] คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือเติบโตเกือบ 6 เท่าตัว เนื่องจากจะมีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 โครงการ ดังนั้น การจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า ครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค รวมทั้งสร้างเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมในระดับสากล นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดีต่อไป”
ภายในงาน เทกก้า ยังมีงานประชุมวิชาการและปฏิบัติการระดับนานาชาติหลากหลายหัวข้อ จัดโดยสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวความคิด ผลงานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด
ทั้งนี้ มีบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว เช่น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออโรเม็กซ์ จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รวมทั้งยังมีบริษัทและสมาคมอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ยืนยันเข้าร่วมจัดงานแล้ว ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเนเธอร์แลนด์
“สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB และ PCBA) ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 150,557 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายใหญ่ที่เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ เห็นได้จากการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิิต PCB และ PCBA รายใหญ่ อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหม่จำนวนมากที่ได้ตัดสินใจ เข้ามาลงทุนในไทย อาทิ บริษัท Zhen Ding Technology (ZDT) บริษัท ยูนิไมครอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ” นายนฤตม์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ www.facebook.com/thailandelectronicscircuitasia หรือ line official @THECA