เพราะการทำงานของระบบลำไส้ สามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม หากระบบลำไส้สมดุล จะส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโพรไบโอติก ตัวช่วยสำคัญที่จะมาช่วยปรับสมดุลให้กับระบบลำไส้ และยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ทำความรู้จัก โพรไบโอติก คืออะไร
โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะต่อระบบย่อยอาหารและลำไส้ โดยปกติแล้วโพรไบโอติกจะถูกเรียกว่าเป็นแบคทีเรียชนิดดี เพราะมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยปรับภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สมดุล การดูดซึมอาหาร และยังมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งโพรไบโอติกจะพบได้มากบริเวณระบบทางเดินอาหาร และพบได้ในอาหารหลายประเภท เช่น นมเปรี้ยว ยาคูลท์ โยเกิร์ต คีเฟอร์ ดาร์กช็อคโกแลต คอมบูชา กะหล่ำปลีดอง และกิมจิ เป็นต้น
โพรไบโอติก VS พรีไบโอติก
คนส่วนมากมักจะสับสนระหว่างโพรไบโอติกและพรีไบโอติกเป็นประจำ เนื่องจากมีชื่อใกล้เคียงกันจึงทำให้จำและเข้าใจผิดได้ง่าย แต่ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากแหล่งของสารอาหารและคุณประโยชน์ ดังนี้
- โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยรักษาสมดุลของลำไส้และระบบทางเดินอาหาร รวมถึงป้องกันอาการผิดปกติต่างๆ ภายในลำไส้ โพรไบโอติกยังมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งชนิดแบคทีเรียดี ชนิดยีสต์ที่ดี และชนิดเชื้อราที่ดี ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีคุณประโยชน์แตกต่างกันออกไป
- พรีไบโอติก (Prebiotics) เรียกง่ายๆ ว่าคืออาหารของโพรไบโอติกนั่นเอง ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตแต่สารอาหารเหล่านี้จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียโพรไบโอติก พรีไบโอติกมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้มากในอาหารประเภทหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง และไฟเบอร์ในผัก ผลไม้ประเภทต่างๆ หากร่างกายได้รับพรีไบโอติกในปริมาณมาห ก็จะไปช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ร่างกายควรได้รับโพรไบโอติกตอนไหน
เพื่อให้โพรไบโอติกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ร่างกายดูดซึมได้สูงสุด การรับประทานโพรไบโอติก จึงควรทานระหว่างมื้ออาหารหรือก่อนอาหารเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนทำลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เพราะช่วงก่อนอาหาร ในกระเพาะและลำไส้จะมีความเป็นกรดต่ำ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวโพรไบโอติกมีสิทธิ์ที่จะโดนทำลายสูง และหากร่างกายได้รับโพรไบโอติกน้อย หรือไม่ค่อยได้รับเลย การรับประทานโพรไบโอติกในช่วงแรกอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือท้องอืดได้ แต่เมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้ อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง
ปริมาณโพรไบโอติกที่ควรได้รับต่อวัน
ปริมาณที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับโพรไบโอติกต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 100-1,000 ล้านตัวต่อวัน หรืออย่างน้อย 5,000 ล้าน CFU ต่อ 1.5 กรัม (อ้างอิงจากหน่วยปริมาณจุลินทรีย์ในผลิตภัณ์อาหาร) โดยสามารถเช็กจำนวนโพรไบโอติกได้จากฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ฉลากโยเกิร์ต ฉลากบนกล่องนมเปรี้ยว หรือฉลากบนอาหารเสริม ซึ่งหากร่างกายได้รับโพรไบโอติกต่อวันมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการเวียนหัว เกิดผื่นคัน หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน การรับประทานโพรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน สามารถช่วยเสริมภูมิคุ้นกันให้ร่างกายและช่วยปรับสมดุลของลำไส้ได้ และนับเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายและมีราคาไม่สูง สำหรับใครที่กังวลว่าร่างกายจะได้รับสารอาหารโพรไบโอติกในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ลองหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติก พร้อมวางแผนการรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะและในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเสริมการทำงานของโพรไบโอติกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว