ภัทรพงศ์ พรมพินิจ มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา เครื่องดนตรีไทย

มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ปั้นบุคลากรสาขาเทคโนโลยีสร้างเครื่องดนตรีไทยคนแรก !! ของประเทศ

5 ปีแล้วที่ มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ได้ส่งต่อโอกาสดีๆ ทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ของโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

Home / PR NEWS / มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ปั้นบุคลากรสาขาเทคโนโลยีสร้างเครื่องดนตรีไทยคนแรก !! ของประเทศ

นับเป็นเวลา 5 ปีแล้วที่ มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ได้ส่งต่อโอกาสดีๆ ทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ของโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในสาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทย หรือที่รู้จักกันในสาขาการสร้างเครื่องดนตรีไทย ซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางที่มีผู้เรียนน้อยมาก ด้วยพลังแห่งความเชื่อมั่นในความคิดและแรงขับเคลื่อนที่ว่า ThePowerOfPossibilities “ชีวิตไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้” ล่าสุด สถาบันฯ ได้ผลิตนักศึกษาทุนมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา คนแรกที่จบสาขานี้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมนำความรู้ที่เรียนมาส่งเสริมสานต่อ และร่วมอนุรักษ์ให้วิชาชีพนี้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ และ ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผอ.โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ และ ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผอ.โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ

ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ กล่าวถึงความสำคัญของสาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทยว่า เกิดจากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ เปิดหลักสูตรสาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทยขึ้นในปี 2561 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทย ให้สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ใน 3 ศาสตร์ “สร้าง ซ่อม ใช้” นั่นคือ สร้างเครื่องดนตรีเองได้ ซ่อมเป็น และเล่นได้ ปัจจุบันมีนักเรียน 5 รุ่น 23 คน โดยในแต่ละปีโรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้ปีละ 5 คน ด้วยความที่สาขานี้มีต้นทุนสูงทั้งเรื่องอุปกรณ์ในการฝึกสอน และอาจารย์ผู้ฝึกสอนซึ่งต้องดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทำให้ในแต่ละปีรับนักเรียนได้จำกัด แต่ยังสามารถเติบโตขึ้นได้ด้วยได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ในการบริหารจัดการและสนับสนุนทุนจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ปีแรกของการเปิดหลักสูตรทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ นอกเหนือไปจากอุปกรณ์การเรียนที่ใช้ทุนสูงแล้ว ยังมีเรื่องของบุคลากรที่ต้องใช้ภูมิปัญญาสกุลช่างต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำแนะนำในการรวมครูช่างผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสาขาดนตรีไทย มาร่วมระดมความคิดและสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ให้เกิดขึ้น

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ กับฆ้องวงใหญ่

ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ กล่าวต่อว่า สาขานี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ เพื่อทดแทนภูมิปัญญาที่เริ่มเหลือน้อยไม่ให้สูญหายไป หลายคนมองว่ายาก เพราะเรียนที่นี่บรรเลงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องซ่อมสร้างด้วยครบจบในคนเดียว นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ จึงถือเป็นนักเรียนคนแรกในประเทศที่จบสาขานี้ ซึ่งอนาคตจะมีการพัฒนาหลักสูตรจนถึงระดับปริญญาตรี สำหรับนักเรียนที่สนใจเป็นนักสร้าง ซ่อม บรรเลงดนตรีไทย สามารถสมัครได้ไม่ต้องกังวลเรื่องอาชีพหลังเรียนจบ

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ

เพราะวิชานี้เป็นสาขาเฉพาะทางที่มีอยู่จำกัด เรามีความรู้ครบองค์ประกอบของเครื่องดนตรีทุกชิ้น ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของตลาด อยากให้เด็กไทยที่สนใจเข้ามาเรียน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์มรดกไทยให้คงอยู่ไว้ตลอดไป

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ โชว์การตีระนาด

นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ นักเรียนทุนของมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา และนักเรียนคนแรกของประเทศไทยที่จบสาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทย กล่าวว่า เล่นดนตรีไทยมาตั้งแต่ ป.3 เริ่มจากเครื่องประกอบจังหวะ ฉิ่ง ฉับ กลอง ก่อนขยายไปสู่ฆ้องวงใหญ่ ระนาด ฯลฯ จนเริ่มอยากรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยมากขึ้นถึงขั้นใฝ่ฝันว่าจะสามารถสร้างเครื่องดนตรีไทยเองได้ พอรู้ว่าโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ เปิดสาขานี้จึงมาสมัครเริ่มจาก ปวช. ทั้งรุ่นมี 5 คน เรียนการสร้างพื้นฐานทั้งงานไม้ งานเครื่องหนัง งานกลึง การเทียบเสียง การทำองค์ประกอบต่างๆ ของเครื่องดนตรี เรียนรู้งานที่บ้านครูช่างที่เป็นเลิศในแขนงต่างๆ เป็นการเรียนที่เข้มข้นมาก จนต่อ ปวส. เพื่อให้ได้ความรู้เชิงลึกมากยิ่งขึ้นทั้งเรื่องงานวิจิตรศิลป์ เขียนผูกลาย ฯลฯ จนกระทั่งสามารถสร้างเครื่องดนตรีไทยได้ ทำให้ความฝันที่เคยวาดไว้ “เป็นไปได้” และเกิดขึ้นจริง

สำหรับการเรียนสาขานี้ ภัทรพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่ยากคือต้องรู้ตัวเองว่าชอบทำงานนี้จริงๆ ถ้าชอบแล้วจะอยากลุยอยากเรียนรู้อยากซ่อมสร้าง มันจะกลายเป็นความสนุก ดนตรีไทยมีเสน่ห์ในตัวเองเป็นความคลาสสิค ตั้งแต่สมัยโบราณที่ยังไม่มีเทคโนโลยีก็สามารถสร้างมาได้เป็นร้อยๆ ปี เป็นการส่งต่อองค์ความรู้และพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เห็นวิวัฒนาการดนตรีไทย ที่สำคัญทำให้เราไม่ลืมรากเหง้า ไม่เคยมองว่าเราเป็นรุ่นแรกคนแรกของประเทศสำหรับสาขานี้ แต่มองว่าเราเป็นรุ่นบุกเบิกให้น้องๆ รุ่นต่อไป จากที่รุ่นแรกลำบากยังไม่มีห้องดนตรี ต้องไปเรียนที่บ้านครูช่างตามที่ต่างๆ ต่างจังหวัดบ้าง แต่ปัจจุบันเรามีห้องซ้อมห้องฝึกและมีทุนในการเชิญครูช่างมาสอนที่สถาบันฯได้

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ

“อยากเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้น้องๆ ได้เห็นว่าจบแล้วสามารถไปทำอะไรต่อได้ ทั้งเรื่องการเรียนหรือการประกอบอาชีพ ล่าสุดผ่านการสอบคัดเลือกโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ประจำปี 2566 โดยจะไปเป็นครูอาสาประจำการ 1 ปี ที่วัดไทยในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่สอนดนตรีไทย และเป็นทูตวัฒนธรรม เป็นประสบการณ์และโอกาสดีๆ ที่เราสามารถมองหาลู่ทางในการทำงานต่างประเทศ หรือต่อยอดในการกลับมาเรียนต่อหรือทำงานที่เมืองไทย ทั้งนี้ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีจากมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ที่เห็นคุณค่าและสนับสนุนความฝันของเด็กคนหนึ่งโดยมอบทุนการศึกษาให้ตลอด 5 ปี มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นเสมือนครอบครัวที่สนับสนุนเราสานฝันให้เป็นไปได้ อยากฝากถึงน้องๆ ให้หาตัวเองให้เจอ ทำในสิ่งที่ชอบแล้วทำความฝันให้เป็นจริง”

ลายไทย

ภัทรพงศ์ พรมพินิจ ฝึกทำลวดลายไทย

นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ที่ได้ส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนไทยผ่านโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จนสามารถผลิตบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลนอย่างสาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทย จนกลายเป็นผลสำเร็จ และยังคงมุ่งมั่นสานต่อพลังแห่งความเป็นไปได้ ด้วยการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป