24 มีนาคม 2566 – สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นำโดย นายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานเสวนาครั้งสำคัญ ภายใต้แนวคิด Reverse the Heart, Restore Your Life: Every Beat Matters โดยมี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดจากโรงพยาบาลชั้นนำเข้าร่วมงานกว่า 50 คน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
เวทีเสวนาReverse the Heart, Restore Your Life: Every Beat Matters จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มุ่งรณรงค์ลดภาวะ “หัวใจล้มเหลว” ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ จากความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ โดยมุ่งสร้างความตระหนักถึงปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลว ความก้าวหน้าของนวัตกรรมวิธีการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องในการป้องกันและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการแล้วก็จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก เพราะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูง และต้องพึ่งพาการดูแลจากครอบครัว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นมาก โดยมีสาเหตุจากการมีโรคร่วมเป็นปัจจัยเสี่ยง กรมควบคุมโรคจึงมุ่งมั่นที่จะลดจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มโรคดังกล่าว โดยรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาใหม่ ๆ ตามนโยบายภาครัฐที่เน้นการจัดการโรคด้วยการใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD Risk Score) และสนับสนุนให้ตรวจเลือด เพื่อเช็คระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และระดับไขมันในเส้นเลือด รวมถึงยกระดับศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และจัดตั้ง Sandbox พื้นที่ทดลองในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้
พล.ต.ต. นพ.เกษม รัตนสุมาวงศ์ อุปนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเป็นภาระทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมอย่างมาก โดยคาดว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แม้จะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และยารักษา
ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่อัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวก็ยังคงสูง รวมถึงอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สมาคมฯ ได้เร่งจัดทำระบบข้อมูลวิจัยทะเบียนโรค เพื่อศึกษาถึงสาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน อัตราการเสียชีวิต และการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งคุณภาพการดูแลการรักษา ร่วมกับการจัดทำแนวเวชปฏิบัติในการดูแลรักษา (Practice guideline) เพื่อให้ได้มาตรฐานการรักษาที่ดีที่สุด และสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง Heart Failure Clinic และจัดอบรมให้กับพยาบาลให้สามารถดูแลผู้ป่วยในแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เน้นว่าปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้นคือการทำงานร่วมกันของ ทีมแพทย์ ร่วมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เภสัชกร พยาบาลชำนาญการ นักกายภาพบำบัด โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ภายใต้การรักษาตามไกด์ไลน์ที่เหมาะสม โดยมีการติดตามและประเมินผลเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้การดูแลและการรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถปรับแนวทางการรักษาได้ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ด้าน ศ. นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ประธานชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นถึงการประเมินความคุ้มค่าและโอกาสในการเข้าถึงการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินแนวความคุ้มค่าในการรักษาจากข้อมูลอ้างอิงจากต่างประเทศร่วมกับข้อมูลงานวิจัยทางคลินิก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้นและสามารถเข้าถึงยาใหม่ ๆ ได้ทันท่วงที อีกทั้งยังลดภาระทางการเงินของผู้ป่วยและระบบการรักษาพยาบาลลงได้ ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการมุ่งเน้นที่ความคุ้มค่าในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้น สิ่งนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่ที่คุ้มค่ากว่า หรือปรับการรักษาที่มีอยู่สำหรับภาวะเรื้อรังนี้ให้สอดคล้องกับความคุ้มค่า ซึ่งสะท้อนจากการที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาใหม่ ๆ ได้มากขึ้น อัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตที่ลดลง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความจำเป็นในการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงในภายหลัง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจล้มเหลวและการปลูกถ่ายหัวใจ รศ. นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ ประธานวิชาการชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว เนื่องจากจะช่วยให้การรักษาโรคนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการเกิดโรคในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผล อีกทั้ง การสื่อสารระหว่างทีมแพทย์กับผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว การปฏิบัติตามแผนการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ และต้องมีการติดตามและประเมินผลและปรับแนวทางการรักษาให้ตรงกับอาการผู้ป่วยตลอดเวลา แม้ว่าในปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ความสำคัญของการให้ยาที่เหมาะสมและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในการรักษาอย่างสม่ำเสมอยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะความไม่ต่อเนื่องของการขาดยาในการรักษาโรคหัวใจอาจส่งผลให้การรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
นอกจากนี้ รศ. นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยถึงการดำเนินงานของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ในการดูแลรักษาและลดจำนวนผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในโอกาสเข้าร่วมการเสวนานี้ว่าศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ เป็นศูนย์กลางในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเชี่ยวชาญในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงโรคหัวใจล้มเหลวที่มีความซับซ้อน ซึ่งนอกจากจะให้การรักษาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในการรักษา (Knowledge Sharing Heart Center) และสร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วย ผ่านการจัดประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง การวางแผนรักษาร่วมกับเครือข่าย ตลอดจนรับผู้ป่วยเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ในระยะแรกของการรักษา ก่อนจะส่งกลับไปยังเครือข่ายเพื่อดูแลต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเองในระยะยาว
นายเควิน โจว Head of Novartis Asia Aspiring Markets, IMI กล่าว “อัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่เพิ่มขึ้น สร้างภาระด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนควรผสานความร่วมมือกัน เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวและเผยแพร่แนวทางการป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและผู้ดูแลเกี่ยวกับการดูแลรักษาที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต