ในยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่รัฐบาลกลับไม่มีสวัสดิการให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ดังที่ได้เห็นปัญหาของการใช้ชีวิตจากข่าวน่าเศร้าทั้งหลาย แต่ด้วยอายุของเราที่เพิ่มขึ้นทุกวัน การมองหาการลงทุนที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ตัวเองได้ในอนาคตก็นับว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF แต่ยังไม่เคยทำความเข้าใจว่าคืออะไรและ ช่วยอะไรด้านไหนได้บ้าง วันนี้เราจึงจะพามาศึกษาถึงความรู้เบื้องต้นของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF กัน
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF หรือ Retirement Mutual Fund คือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมเงินในระยะยาวเพื่อการเกษียณ เพื่อวางแผนชีวิตในวัยชราไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นการออมแบบบังคับให้ลงทุนยาว ๆ โดยมีเงื่อนไขหลักคือ ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และต้องมีอายุครบ 55 ปี ถึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนมาใช้ได้
ตอบเหตุผลทำไมถึงต้องซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF
1.ตอบโจทย์ชีวิตวัยเกษียน
นี่คงเป็นเหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดของคนที่คิดลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF เนื่องจากเป็นวัยที่หลายคนอาจขาดรายได้ ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล แต่กลับยังมีรายจ่ายอยู่ รวมถึงการรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นเมื่อแก่ชรา จึงต้องคำนึงถึงการเก็บเงินลงทุนในระยะยาว
2.ยืนหยุ่นในการเลือกลงทุน สับเปลี่ยนกองทุนได้
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF มีหลายประเภท หลายระดับความเสี่ยงให้เลือก หากมีเวลาไม่มากก่อนเกษียนและไม่อยากขาดทุนเงินต้นก็เลือก RMF ที่เสี่ยงต่ำ แต่ถ้าเราเริ่มลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถเลือก RMF ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพราะแม้หุ้นจะมีความเสี่ยงสูงในระยะสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ยังถือว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก
3.ช่วยเพิ่มพูนผลตอบแทนจากดอกเบี้ยทบต้น
รู้หรือไม่ว่ายิ่งลงทุนด้วยระยะยาวนานเท่าไหร่ เงินต้นก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผลตอบแทนก็จะสะสมทบไปเหมือนดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งเป็นเงินจะสะสมที่ต้องรอใช้ได้เมื่อเกษียน แต่มั่นใจได้เลยคุณจะมีเงินใช้ในวัยชราแน่นอน
4.ยิ่งซื้อมาก ยิ่งประหยัดภาษี
นอกจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF จะสนับสนุนการออมเงินในระยะยาว ผู้ลงทุนยังได้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีหากทำตามเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในปีภาษี หรือ 5,000 บาท (นับจำนวนที่ต่ำกว่าเป็นเกณฑ์) และสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้นั้น และเมื่อรวมกับเงินที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งยิ่งคุณซื้อกองทุนเร็วก็ยิ่งมีข้อดีเพราะสามารถประหยัดภาษีได้ต่อเนื่อง