ด้วยจุดยืนองค์กรในเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด อันเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “ความยั่งยืนทุกด้าน” (All Sustainable) ให้เป็นจริง ล่าสุด ‘มิชลิน’ ได้จับมือเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สนับสนุนโครงการ “แยกขวด ช่วยหมอ” รณรงค์ให้พนักงานร่วมบริจาคขวดพลาสติก PET เพื่อใช้ผลิตเป็นชุด PPE มอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่สีแดงเข้ม
ภายใต้โครงการดังกล่าวซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มิชลินได้ร่วมสมทบทุนในการผลิตชุด PPE จากเส้นใยพลาสติกเป็นเงินกว่า 300,000 บาท และบริจาคขวดพลาสติก PPE รวม 192 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นชุด PPE ได้ทั้งสิ้น 1,300 ชุด
มานูเอล มอนตานา (Manuel Montana) ประธานกลุ่มมิชลินประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย เปิดเผยว่า “โครงการ ‘แยกขวด ช่วยหมอ’ ไม่เพียงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อแพทย์และบุคลากรด่านหน้าท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังสอดคล้องกับจุดยืนองค์กรเรื่อง ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ในแง่ของการลดขยะและการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ ‘ความยั่งยืนทุกด้าน’ ของกลุ่มมิชลินที่เน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้รุดหน้าไปในทิศทางที่ดียิ่งกว่าและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับโลกอย่างสมดุล”
อนึ่ง กลุ่มมิชลินชูแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นกลไกขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยมุ่งทำตลาดสินค้าและบริการที่ทุกขั้นตอน…ตั้งแต่ออกแบบจนสิ้นสุดวงจรชีวิต…ช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด ตามแนวทาง “4R” ซึ่งประกอบด้วย Reduce (การลด), Reuse (การใช้ซ้ำ), Recycle (การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่) และ Renew (การใช้วัตถุดิบหมุนเวียน)
ที่ผ่านมามิชลินในประเทศไทยยังได้สนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนริเริ่มโครงการต่าง ๆ และจัดกิจกรรมรณรงค์ในหมู่พนักงานอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” อาทิ โครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานมิชลิน (Solar Roof) เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า, โครงการรณรงค์ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและการใช้กระดาษในสำนักงานของมิชลิน, โครงการบริจาคกล่องกระดาษใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลผลิตเป็นเตียงสำหรับโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นต้น