ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เตรียมพัฒนาคลังเวชภัณฑ์อัจฉริยะแบบครบวงจร (Smart Medical Supplies) เพื่อแก้ปัญหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เช่น ชุด PPE, หน้ากาก N95 ฯลฯ ขาดสต๊อก ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยนำนวัตกรรมโลจิสติกส์ และกลุ่มเทคโนโลยีของ IoT มาออกแบบให้คลังเวชภัณฑ์ทำงานอัตโนมัติ, สร้างระบบเก็บ-รับ-ส่ง-ประมวล-แสดงผลข้อมูลการเข้า-ออก และตำแหน่งปัจจุบันของเวชภัณฑ์แต่ละชนิดอย่างละเอียด เรียลไทม์ ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้โรงพยาบาลสามารถวางแผนและจัดเตรียมเวชภัณฑ์ให้เพียงพอต่อการใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาคลังเวชภัณฑ์อัจฉริยะฯ กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะชุด PPE, หน้ากาก N95 และเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่มีกว่า 130 ชนิด (SKU) ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีไม่เพียงพอ หรือ ขาดสต๊อก มาจากปัญหาข้อมูลเวชภัณฑ์ในระบบไม่อัปเดต เพราะต้องใช้แรงงานคนในการติดตามการใช้งานและนับสต็อก ก่อนการคีย์ข้อมูลเข้าระบบจำนวนมาก ใช้เวลานาน และไม่สามารถอัปเดตได้ตลอดเวลา ข้อมูลปริมาณการใช้งานและจำนวนคงเหลือที่มีอยู่ในระบบจึงไม่สะท้อนความจริง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดสรรจำนวนเวชภัณฑ์ให้โรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม รวมถึงประชาชนที่ต้องการบริจาคเวชภัณฑ์เพื่อช่วยสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ก็ไม่สามารถบริจาคได้ตามความขาดแคลนที่แท้จริง นี่จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาคลังเวชภัณฑ์อัจฉริยะ ที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
“เรานำนวัตกรรมโลจิสติกส์มาพัฒนาคลังเวชภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยขึ้น โดยอัปเกรดอุปกรณ์ในคลัง เช่น รถเข็น, ตะกร้า, กล่องรักษา-ควบคุมอุณหภูมิ, ชั้นวางของ, ตู้แช่เย็น ด้วยกลุ่มเทคโนโลยี IoT ได้แก่ เทคโนโลยี RFID ที่ติดตั้งแท็กบนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ ทำให้สามารถรับและส่งข้อมูลเวชภัณฑ์ได้อัตโนมัติ เช่น ประเภทของเวชภัณฑ์ หมายเลขล็อตหรือแบ็ทช์, สถานที่ผลิต, วันผลิต, วันหมดอายุ, ตำแหน่งการวางและหยิบเวชภัณฑ์ในคลัง เป็นต้น ทดแทนการใช้คนจดบันทึกและคีย์ข้อมูลเข้าระบบ โดยโรงพยาบาลสามารถนำไปเชื่อมต่อเข้ากับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) สำหรับการจัดการเวชภัณฑ์คงคลัง ด้วย Economic Order Quantity (EOQ) เพื่อมาคำนวณว่า ควรสั่งเวชภัณฑ์แต่ละประเภทปริมาณเท่าใด และเมื่อไหร่ ทั้งนี้ ข้อมูลเวชภัณฑ์จะอัปเดตทันทีเมื่อมีการนำเวชภัณฑ์เข้าและออกจากคลัง ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถเช็คข้อมูลสต๊อกได้ถูกต้อง ตรงกัน และสั่งเวชภัณฑ์ได้ทันเวลา” ผศ.ดร.กานดา กล่าวเพิ่มเติม
โดย ทีมวิจัยฯ เลือกใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน แก้ปัญหาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ กำลังเผชิญ ด้วยงบประมาณที่สมเหตุสมผล เช่น การบันทึกปริมาณการใช้เวชภัณฑ์ สามารถเลือกใช้การติดตั้งตราชั่ง หรือ โหลดเซลล์ บนอุปกรณ์ ร่วมกับแท็ก RFID บนชั้นวางสำหรับเวชภัณฑ์ราคาสูงและ/หรือมีขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพง ส่วนเวชภัณฑ์อื่นๆ สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ด ซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าได้
ด้าน รศ.นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างคลังเวชภัณฑ์ใหญ่ กับคลังย่อยของวอร์ดต่างๆในโรงพยาบาลยังไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้การตรวจสอบปริมาณที่แท้จริงของเวชภัณฑ์แต่ละชนิดที่มีและใช้อยู่เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 เวชภัณฑ์อย่างชุด PPE, หน้ากาก N95 เป็นเวชภัณฑ์ป้องกันที่จำเป็นและขาดไม่ได้ การพัฒนาคลังเวชภัณฑ์อัจฉริยะ จะเข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการเวชภัณฑ์ทั้งระบบดีขึ้น ทำให้รับรู้ปริมาณของที่มีถูกต้อง และช่วงเวลาที่ควรสั่งซื้อ จนถึงความเหมาะสมในการนำเวชภัณฑ์แต่ละชนิดไปใช้ ซึ่งหากระบบนี้สำเร็จจะช่วยป้องกันปัญหาเวชภัณฑ์ขาดแคลนได้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการรักษาผู้ป่วย และการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์
“นอกจากประโยชน์โดยตรงต่อการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของโรงพยาบาล คลังอัจฉริยะยังส่งผลดีต่อการบริหารจัดการภายในโรงพยาบาล ช่วยลดภาระงานของบุคลากรในงานด้านข้อมูล หมดปัญหาเวชภัณฑ์หมดอายุ เพราะมีการบันทึกวันเข้าและวันออกจากคลังแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมโยงสู่ระบบโลจิสติกส์ เพราะภายในโรงพยาบาลจะมีคลังย่อยต่างๆ แต่การบริหารจัดการแบบภาครัฐ จะให้ความสำคัญกับคลังใหญ่เป็นหลัก มีการเช็คข้อมูลสต๊อก ของเข้าและออกในคลังใหญ่ แต่ยังไม่มีระบบจัดการข้อมูลในคลังย่อย หากเป็นไปได้ก็อยากเห็นทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยมีระบบคลังอัจฉริยะที่เชื่อมโยงข้อมูลไปถึงคลังย่อยแบบครบวงจร สามารถดูภาพรวมของที่มีอยู่ในโรงพยาบาลได้ทั้งหมด จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน” รศ.นพ. พฤหัส กล่าวเพิ่มเติม
โครงการพัฒนาคลังเวชภัณฑ์อัจฉริยะ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช. และบริษัททำน้อยได้มากจำกัด ผู้ให้บริการด้านระบบการจัดการคลังสินค้า และผู้ให้คำปรึกษาด้านลีน ที่มาร่วมกันพัฒนาคลังเวชภัณฑ์เพื่อรองรับการทำงานของโรงพยาบาลต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงหาทุนสนับสนุนวิจัย เมื่อได้รับทุนแล้วก็พร้อมลงมือพัฒนาคลังเวชภัณฑ์อัจฉริยะได้ทันที