“รามอินทราเฮลท์สหคลินิก” ร่วมระบบ Home Isolation ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน เผยเป็นระบบที่ดี ช่วยลดวิกฤติเตียงไม่พอ สนับสนุนการทำงานเชิงรุก ครอบคลุมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าบริการ และยารักษา เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงบริการ
นทพ.นันทศักดิ์ สุขแก้ว ผู้ประกอบการรามอินทราเฮลท์สหคลินิก กล่าวว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาต (สปสช.) ได้ดำเนินการจัดระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชน (Home Isolation / Community Isolation : HI/CI) โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา รามอินทราเฮลท์สหคลินิกได้เข้าร่วมทันที เนื่องจากก่อนหน้าที่เริ่มเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คลินิกเราได้ร่วมช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นทีมในจิตอาสาเครือข่ายเพจ “เราต้องรอด” ในการร่วมดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด ซึ่งในทีมประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ นโยบายนี้จึงเป็นสิ่งที่มาช่วยสนับสนุนการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ด้วยขณะนี้เป็นช่วงเริ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชนของคลินิกที่ต้องมีการวางระบบตามแนวทาง สปสช. ทั้งยังมีงานเกี่ยวข้องด้านเอกสารและการคีย์ข้อมูล ทำให้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ของคลินิกที่เข้าสู่ระบบระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชน มีจำนวนไม่มากจากจำนวนผู้ป่วยที่เราติดตามและดูแลจริง โดยมีจำนวนเพียง 16 ราย ซึ่งหากระบบทุกอย่างเข้าที่แล้ว ก็จะมีผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชนของ สปสช. เพิ่มขึ้น โดยเราสามารถรองรับการดูแลผู้ป่วยนับร้อยราย
นทพ.นันทศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของอัตราเบิกจ่ายค่าบริการนั้น จำนวน 1,000 บาท ที่ได้รับต่อการดูแลผู้ป่วย 1 ราย มองว่าเป็นจำนวนที่พอบริหารจัดการได้ ทั้งค่าอาหาร 3 มื้อ และการติดตามดูแลผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง โดยในส่วนของอาหาร เนื่องจากเรามีการดำเนินการอยู่แล้ว ตรงนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหา
สำหรับการดูแลผู้ป่วย เรามีการไลน์คุยกับผู้ป่วยตลอด เพราะเข้าใจว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะมีความวิตกกังวล ทั้งในเรื่องอาการ การปฏิบัติดูแลตนเอง และการกักตัวไม่ให้ติดคนในครอบครัว เป็นต้น จึงต้องมีการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียวก็มีโอกาสที่อาการจะแย่ลงแบบฉับพลันได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังจนกว่าเข้าสู่ระยะปลอดภัย และหากมีอาการแย่ลงก็จะประสานสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) 1669, สายด่วนเอราวัณ กทม. 1646 และญาติผู้ป่วย เพื่อนำส่งผู้ป่วยเข้ารักษาโดยเร็ว ซึ่งคลินิกเรามี รพ.นพรัตน์เป็นแม่ข่ายบริการ
ส่วนการสนับสนุนค่าอุปกรณ์การแพทย์ในการดูแลอัตรา 1,100 บาท/ราย เฉพาะเครื่องวัดค่าออกซิเจนที่เราใช้ก็เกินราคาเบิกจ่ายแล้ว แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มองว่าหากช่วยอะไรได้ เราก็ต้องช่วยกัน และการที่ สปสช. มียารักษามาสนับสนุน โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) สามารถช่วยในการดูแลผู้ป่วยได้มาก เพราะจากประสบการณ์ดูแล ในผู้ป่วยสีเหลืองบางรายเมื่อได้รับยานี้ก็จะมีอาการดีขึ้น
“วันนี้อยากให้ทุกคลินิกและหน่วยบริการในระบบสุขภาพร่วมกัน เพราะเราต่างเป็นมดงานขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ โดยร่วมกับ สปสช. และหน่วยงานหลักด้านสุขภาพ เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนในชาติต่างเผชิญและหลายคนมีความเดือนร้อนให้ผ่านพ้นไปได้ การกำหนดราคาอัตราจ่าย สปสช.ก็คงวิเคราะห์มาแล้ว ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่เป็นการเริ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชนเป็นวันที่เรา So Happy มาก เป็นวันที่เรามีความสุข เพราะเป็นวันที่มีระบบมาช่วยกันสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ” นทพ.นันทศักดิ์ กล่าว
ส่วนการที่ สปสช. สนับสนุน Antigen Test Kit (ATK) นั้น นทพ.นันทศักดิ์ กล่าวว่า เป็นส่วนที่ทำให้คลินิกเพิ่มการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุก หากผลตรวจเป็นบวกจะมีการส่งต่อเพื่อตรวจวิธี RT-PCR เพื่อยืนยัน กรณีที่มีอาการไม่มาก เราจะให้ผู้ป่วยลงทะเบียนผ่านสายด่วน สปสช. 1330 และกด 14 เลย หรือลงทะเบียนผ่านระบบคอมโควิด เข้าสู่ระบบดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน