แนวทางการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 หลัก ๆ จำเป็นต้องให้ยาต่างๆให้ถูกช่วงเวลา เพราะถ้าให้ยารักษาในช่วงเวลาที่ผิด ก็จะไม่ได้ผลนายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน (หมอแทน) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การรักษาโรคไวรัสโควิด-19 มีระยะดัวนี้
ในระยะแรก ของการติดเชื้อมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนไวรัสให้เร็วที่สุด โดยการให้ยาต้านไวรัส
ส่วนระยะที่ 2 ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดการอักเสบของร่างกาย เนื่องจากการทำงานมากผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆโดยเฉพาะปอดทำงานผิดปกติ การรักษาในระยะนี้ต้องให้ยาเพื่อไประงับภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไป เช่น ยาสเตียรอยด์
ระยะที่ 3 ถือเป็นช่วงการรักษาที่สำคัญ ระยะนี้มีเวลาสั้นมากจำเป็นต้องวินิจฉัยรักษาให้ทัน จุดเด่นคือผู้ป่วยอาการกำลังแย่ลงมาก การหายใจกำลังจะล้มเหลว และมีการอักเสบในร่างกายพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว แพทย์จะให้ยาบางตัวที่มีความจำเพาะกับภูมิคุ้มกันมาก โดยยานี้จะไปยับยั้งสารก่อการอักเสบ Interleukin-6 เพื่อไปหยุดการทำงานที่ผิดปกติของภูมิต้านทานที่ทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งถ้าสามารถให้ยาถูกช่วงเวลาและทันท่วงที อาการผู้ป่วยก็จะดีขึ้น อาจจะสามารถทำให้หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องช่วยหายใจได้ ยาตัวนี้หากให้ไม่ถูกช่วงเวลา คือ ให้เร็วหรือช้าไป ก็จะไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตามหากหยุดอาการไม่ได้ในระยะนี้ก็จะเข้าสู่ ระยะที่ 4 คือผู้ป่วยอาการหนักจนถึงขั้นเข้าห้อง ICU และจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ การรักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือต้านการอักเสบ อาจไม่ได้ผลและไม่มีประโยชน์นัก การรักษาหลักในช่วงนี้คือ การรักษาประคับประคองโดยใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยได้ออกซิเจนมากพอและมีเวลาฟื้นตัว แพทย์อาจจะให้ยานอนหลับ (Sedative) ยาหยุดการทำงานของกล้ามเนื้อ (Paralytic agent) เพื่อลดการใช้พลังงานของผู้ป่วย เป็นการลดความต้องการออกซิเจนของร่างกาย อาจจะมีการให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ (Prone position) ซึ่งสามารถทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซของผู้ป่วยดีขึ้น แต่หากยังไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีออกซิเจนต่ำอยู่ อาจจะจำเป็นต้องใช้เครื่องปอดเทียม ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม เครื่อง ECMO นี้ก็มีผลข้างเคียงในตัวมันเอง และไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยดีหายจากโรค แต่เป็นการรักษาระดับออกซิเจนในร่างกายเพื่อรอเวลาให้ผู้ป่วยฟื้นตัว นอกจากนี้ระยะที่ 4 นี้ยังต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษาอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราแทรกซ้อน ภาวะไตวาย หรือลิ่มเลือดอุดตันตามส่วนต่างๆ เป็นต้น ในระยะที่ 4 นี้ผู้ป่วยบางคนฟื้นตัวและดีขึ้นได้ แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ดีขึ้นและเสียขีวิตจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ปอดไม่ดีขึ้น แต่อวัยวะอื่นๆยังทำงานได้ปกติดีอยู่ ทางทีมแพทย์อาจจะพิจารณาปลูกถ่ายปอดเพื่อการรักษา ซึ่งจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยอาการคงที่ รู้ตัวดี เดินออกกำลังกายกับนักกายภาพบำบัดได้ โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไปเนื่องจากการปลูกถ่ายปอดยังทำได้ลำบาก มีผลแทรกซ้อนได้มาก และหลังการปลูกถ่ายจะมีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ยเพียง 7-8 ปีเท่านั้น
สำหรับการจัดทำคลิปวีดีโอนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อีโอไลฟ์เมด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ CPAP/BPAP จากประเทศออสเตรเลีย ที่เน้นให้ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่เกี่ยวกับการนอนหลับ ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูคลิปวีดีโอได้ที่ https://youtu.be/RSMPXTMkqSM