“เกรียนไซเบอร์ฯ ปี 2” เผยผลการดำเนินโครงการฯ สามารถสร้าง “อาชีวะสื่อสารสุขภาวะ” ในประเด็นภาวะซึมเศร้า การระรานทางไซเบอร์และภัยคุกคามบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีนักศึกษาอาชีวะ 31 ทีม จาก 20 สถาบัน ในพื้นที่ 9 จังหวัด เข้าร่วมโครงการ และผลิตสื่อดิจิทัล 146 ชิ้นงาน โดยมีนักศึกษาอาชีวะจำนวน 155 คน เข้าร่วมโครงการฯ
ดร.สุภาพร ศรีสัตตรัตน์ หัวหน้าหน่วยจัดการทุนโครงการเกรียนไซเบอร์เซียนสร้างสรรค์สื่อสร้างสุข ปี 2 (เกรียนไซเบอร์ฯ ปี 2) โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยว่า ในวันนี้ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน “การแสดงผลงานสื่อดิจิทัลและรับมอบวุฒิบัตรของโครงการย่อย” โครงการเกรียนไซเบอร์ฯ ปี 2
“การดำเนินงานโครงการเกรียนไซเบอร์ ปี 2 ได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ในประเด็นภาวะซึมเศร้า การระรานทางไซเบอร์และภัยคุกคามบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้มอบทุนแก่โครงการย่อยจำนวน 31 ทีม มีนักศึกษาอาชีวะเข้าร่วมจำนวนรวม 155 คน จาก 20 สถาบัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และผลิตผลงานสื่อดิจิทัล จำนวนรวม 146 ชิ้นงาน” ดร.สุภาพร กล่าว
“นักศึกษาอาชีวะได้ผลิตผลงานสื่อดิจิทัล หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ แอนิเมชั่น โมชั่นกราฟฟิก ภาพถ่าย สารคดี มิวสิควีดีโอ คลิป(หนังสั้น,โฆษณา,ซีรีย์) อินโฟกราฟฟิก(ภาพนิ่งและแอนิเมทกราฟฟิก) FilterIG TikTok และมีการเผยแพร่ผลงานในช่องทางต่างๆ เช่น ยูทูป เพจเฟซบุ๊ก ในรูปแบบ ไลค์ วิว แชร์ แฮชแท็ก จำนวนรวม มากกว่า 250,000 ครั้ง ทั้งนี้ในภาพรวมผลงานของนักศึกษาอาชีวะนับว่ามีคุณภาพสมกับฝีมือการผลิตของวัยรุ่น”
ดร.สุภาพร กล่าวว่า จากผลงานทั้งหมดของนักศึกษาอาชีวะที่มีอายุระหว่าง 14-18 ปี และเข้าร่วม/โครงการฯ สะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาอาชีวะก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ไม่ช่างพูด มีความอ่อนไหว มีปัญหาเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป เช่น เหงา ว้าเหว่ มองสังคมว่าไม่ได้สวยงาม มองโลกในแง่ลบ และขณะเดียวกันผลงานก็ได้สะท้อนถึงทางออก การป้องกันและการเข้าใจปัญหา และทำให้เจ้าของผลงานเข้าใจความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ “เกรียนไซเบอร์ฯ ปี 2” 12 เดือน พบว่าประเด็นภาวะซึมเศร้า นักศึกษาฯ เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เกิดความรู้ความเข้าใจการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างถูกต้อง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ลด ละ เลิก การแสดงความคิดเห็นเชิงลบและส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เกิดความระมัดระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์ รู้จักวิธีการจัดการอารมณ์ตัวเองเมื่อเครียดหรือเผชิญปัญหาไม่ให้ไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การบูลลี่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่ถูกบูลลี่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ดังนั้นไม่ควรทำ
นอกจากนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น เกิดการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เก็บอารมณ์ได้ดีขึ้น มีความสุข รู้จักวางแผนการทำงาน มีการตั้งเป้าหมายการทำงาน กล้าเผชิญปัญหาและอุปสรรค
ทางโครงการเกรียนไซเบอร์ฯ ยังได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณการบริหารจัดการโครงการดีเด่น ให้แก่ 9 สถาบันอาชีวศึกษา โดย ชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม วิทยาลัยเทคนิคพัทยา รองชนะเลิศ 3 รางวัล ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ
วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ รางวัลชมเชย 4 รางวัล ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยานนาวา วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ วิทยาลัยเทคโนโลยีโพลีกรุงเทพ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
ผู้สนใจสามารถดาวโหลดและนำผลงานสื่อดิจิทัล 146 ชิ้นงานไปเผยแพร่ได้ โดยสามารถเข้าชมผลงาน ที่ www.greancyber.com