ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเล็งเห็นถึงปัญหาการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาสร้างความสัมพันธ์โดยผ่านการให้ทุนการทำวิจัย การศึกษาดูงาน และการอุปถัมภ์อื่น ที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำเนินกิจการหลักของมหาวิทยาลัย ในการผลิตข้อมูลความรู้และชี้นำสังคมอย่างเป็นกลาง มีอิสระทางวิชาการ มหาวิทยาลัยจึงจัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อประกาศว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ร่วมมือกับบริษัทบุหรี่และเครือข่ายของบริษัทบุหรี่ในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น” และจะถือโอกาสเชิญชวนมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่จะไม่ร่วมมือกับบริษัทบุหรี่เช่นกัน
รศ.ดร นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดี ฝ่านวิเทศสัมพันธ์ และ สื่อสารองค์กร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นย้ำบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจสำคัญในการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพและยังยึดมั่นในการช่วยสื่อสารกับสังคมเพื่อรณรงค์การไม่รับทุนจากบริษัทยาสูบในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลจะขับเคลื่อนการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อต่อยอดการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพ (Healthy University)
ในการจัดงานครั้งนี้ รศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรในสถาบันฯ ซึ่งเป็นแม่งาน
ในฐานะที่เป็นสำนักงานเลขาธิการของ ASEAN University Network – Health Promotion Network (AUN-HPN ) กล่าวว่า ในปีนี้ทางสถาบันฯ เน้นกิจกรรมการขับเคลื่อนในรูปแบบการสร้างจุดยืนที่ถูกต้องให้กับสังคม เพื่อสร้างองค์ความรู้และการรู้เท่าทันบริษัทยาบุหรี่/ยาสูบ ที่มีกลยุทธ์ในการบิดเบือนการรับรู้ และข้อมูลที่ถูกต้องแก่ นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในองค์กร ส่วนงานต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า และกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ด้วยการให้ทุนที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง เพื่อสนับสนุนทั้งกิจกรรมนักศึกษา การศึกษาดูงาน รวมถึงงานวิจัย
โดยรูปแบบงานปีนี้ จัดเน้นให้การรับรู้ในวงกว้างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และสังคมออนไลน์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปีนี้
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ที่ห้ามผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์ บุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยการของรัฐ ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย การประกาศงดรับทุนทุกรูปแบบจากบริษัทบุหรี่จึงสอดคล้องกับกฎหมายไทยและช่วยให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสามารถทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ไม่ละเมิดกฎหมาย และผลิตผลงานวิชาการที่ก่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
คุณบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาลในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกกว่า 20 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ได้ประกาศนโยบายไม่รับทุนและไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ กับบริษัทบุหรี่และเครือข่ายของบริษัทบุหรี่ อาทิ มูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่บริษัทบุหรี่จัดตั้งขึ้น “ที่สำคัญการที่มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ประกาศไม่ร่วมมือทุกรูปแบบกับบริษัทบุหรี่นี้ ยังเป็นไปตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control; WHO FCTC) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกที่องค์การอนามัยโลกจัดทำขึ้นเพื่อช่วยในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอันเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกถึงปีละ 8 ล้านคน”
โดยในวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.00 น. มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดให้มีการแถลงข่าว “เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมใจสร้างจุดยืนไม่รับทุนวิจัยและการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่” โดยมีการให้ข้อมูลและร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อสร้างระบบธรรมภิบาลภายในองค์กรที่จะงดรับทุนจากบริษัทบุหรี่ทุกรูปแบบ ณ ห้องประชุม บุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม