ประธานรัฐสภา

จับตา การเมืองไทยวันเปิดประชุมวันแรก โหวตประธานสภาและรองประธานฯ

วันนี้ (25 พ.ค.) จะมีการเปิดประชุมสภา เพื่อออกเสียงเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยหลังจากเมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) เรียกได้ว่า สถานการณ์หลายพรรคการเมืองค่อนข้างชุลมุนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้เลือก-ประกาศที่จะจับมือกับขั้วการเมืองฝั่งใดมาก่อน อย่าง พรรคประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา โดยตัวเต็งผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อประธานสภาฯ…

Home / NEWS / จับตา การเมืองไทยวันเปิดประชุมวันแรก โหวตประธานสภาและรองประธานฯ

ประเด็นน่าสนใจ

  • ปชป. เปิดชื่อ นายชวน หลีกภัย ลงชิงตำแหน่งประธานสภาฯ
  • พปชร. ยอมถอย ยกคะแนนเสียง 115 คะแนน โหวตนายชวน
  • พรรคร่วมกับ พปรชร. น่าจะยกมือโหวตให้นายชวน เช่นกัน
  • เพื่อไทย-อนาคตใหม่ ไม่ถอย ส่งชื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลงชิงตำแหน่ง ด้วยฐานคะแนนเสียง 7 พรรคร่วมอุดมการณ์เดิม (244 เสียง – หักนายธนาธร 1 เสียง)

วันนี้ (25 พ.ค.) จะมีการเปิดประชุมสภา เพื่อออกเสียงเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยหลังจากเมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) เรียกได้ว่า สถานการณ์หลายพรรคการเมืองค่อนข้างชุลมุนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้เลือก-ประกาศที่จะจับมือกับขั้วการเมืองฝั่งใดมาก่อน อย่าง พรรคประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา

โดยตัวเต็งผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อประธานสภาฯ ล่าสุดนั้น ประกอบไปด้วย

I. นายชวน หลีกภัย – พรรคประชาธิปัตย์

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะค่อนข้างเงียบเชียบทีเดียวว่า ใครจะมาได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ในฟากฝั่งของ ปชป. แต่เมื่อวานนี้ หลังจากที่จบการประชุมพรรคเป็นที่เรียบร้อย ได้ข้อสรุปออกมาว่า เป็นนายชวน หลีกภัย ที่จะได้รับการเสนอชื่อ

ซึ่งห่างกันไม่นานก็เกิดกระแสข่าวตามมาทันทีว่า นายชวน กลายเป็นตัวเต็งลำดับแรกของการนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ด้วยข้อต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลกับฟากฝั่งของพลังประชารัฐ โดยเสียง ส.ส. ของพลังประชารัฐ 115 จะยกมือให้นายชวน ได้นั่งเป็นประธานสภา

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะดูเหมือนยังคงตกลงกันไม่ได้ในบางประเด็น แต่ท้ายที่สุดแล้ว พปชร. ก็ตัดสินใจว่าจะยกคะแนนเสียงโหวตให้กับนายชวน และก็ค่อนข้างแน่นอนอีกเช่นกันว่า หาก พปชร. ยกมือให้ จำนวนเสียงส.ส. ที่ประกาศตัวก่อนหน้านี้ว่า จะร่วมรัฐบาลกับทาง พปชร. ก็น่าจะไม่พลาดที่จะยกมือให้เช่นกัน ซึ่งน่าจะรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย ที่แม้ว่าจะยังอุบไม่บอกว่า จะยกมือโหวตนายกฯให้ใคร แต่ยืนยันแล้วว่า จะยกมือโหวตประธานสภาฯ ให้กับขั้วของพปชร. แน่นอนแล้ว

ดังนั้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดที่พลิกโผ วันนี้ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่น่าจะหนีไปไหน

II. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ – พรรคเพื่อไทย

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนคือการที่ 7 พรรคในขั้วของเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ยังคงเหนียวแน่น โดยเปิดทางให้เพื่อไทยได้เสนอชื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จากจังหวัดเชียงใหม่ ลงนั่งประธานสภา ซึ่งโดยฐานเสียงของส.ส.ขั้วเพื่อไทย-อนาคตใหม่นี้ ยังอยู่ที่ 245 เสียง แต่ในการลงคะแนนในครั้งนี้ก็น่าจะขาด 1 คะแนนเสียงจากพรรคอนาคตใหม่ คือ นายธนาธร ที่ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นั่นเอง

ตัวเต็งรองประธานสภาฯ

I. นายสุชาติ ตันเจริญ – พรรคพลังประชารัฐ

แม้ว่า ตัวเต็งประธานสภาฯ นั้นดูจะตกเป็นของนายชวนไปแล้ว แต่แน่นอนว่า พลังประชารัฐยังมีชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นตัวแทนลงนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ เพียงชื่อเดียว ดังนั้นสิ่งที่คาดหมายในวันนี้ น่าจะเป็นตำแหน่งของ “รองประธานสภาฯ” ที่น่าจะไม่ผลิกโผได้นั่งในตำแหน่งนี้

ดังนั้น ในตัวเต็งว่าที่ประธานสภาฯ ของฝั่งพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ต้องลุ้นกันต่อ

II. นายศุภชัย โพธิ์สุ – พรรคภูมิใจไทย

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีรายชื่อของนาย ชัย ชิดชอบที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกันล่าสุด ทำให้ภูมิใจไทยอาจจะเสนอชื่อ นายศุภชัย โพธิ์สุ เข้าลงเป็นรองประธานสภาแทน โดยคาดว่า อาจจะได้รับตำแหน่งเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2

….

ชัย ชิดชอบ – พรรคภูมิใจไทย รับหน้าที่ประธานสภาฯ ชั่วคราว

ก่อนหน้านี้ ชื่อของปู่ชัย ได้รับการพูดถึงกันมาโดยตลอด จากขั้วของพรรคภูมิใจไทย และดูว่าจะเป็นตัวเต็งในลำดับแรกๆ ทันทีที่ชื่อนี้ปรากฏขึ้นบนหน้าสื่อฯ ด้วยประสบการณ์ ความเก๋าในเรื่องการเมืองที่เคยนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ มาแล้ว โดยผลงานในครั้งนั้นเรียกได้ว่า ได้แสดงให้เห็นถึงว่า “เก๋า” ที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนต่างๆ สลับมุกตลก ลดทอนความตึงเครียดในที่ประชุมได้อย่างมากทีเดียว

แต่ด้วยอายุที่ค่อนข้างมาก ทำให้หลายฝ่ายต่างห่วงถึงสุขภาพของปู่ชัย หากต้องนั่งทำงานนานๆ ในกรณีที่มีการอภิปรายกันยาวๆ สถานการณ์ตึงเครียดในสภาฯ ได้หรือไม่ แม้ว่า จะสามารถสลับให้รองประธานฯ มารับหน้าที่แทนได้ในบางช่วงก็ตาม

นอกจากนี้ หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดชื่อนายชวน หลีกภัยเข้ามา พร้อมกระแสข่าวการต่อรองกันระหว่าง พลังประชารัฐ ทำให้ ปู่ชัยน่าจะอยู่เป็นลำดับท้าย ดังนั้นในวันนี้ ปู่ชัย จึงจะได้นั่งทำหน้าที่ในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นการชั่วคราว” เพื่อเปิดให้มีการลงมติเลือกประธานสภาฯ ตัวจริง

….

สำหรับหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร

หน้าที่หลักๆ ของประธานสภาฯ นั้นจะถือเป็นประธานในที่ประชุมสภาฯ และเป็นผู้กำหนดการประชุมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ควบคุมดำเนินการในการประชุมสภาฯ ให้เกิดความเรียบร้อยทั้งที่ประชุมสภาฯ และบริเวณของรัฐสภา นอกจากนี้ก็ยังถือได้ว่า เป็นตัวแทนของรัฐสภาในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ดังนั้นตำแหน่งประธานสภาฯ นั้นจึงถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญคนหนึ่งไม่แพ้กัน เพราะสามารถกำหนดทิศทาง การเปิดสภา การเปิดอภิปราย หรือแม้แต่การอนุญาตให้ใครคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นอภิปราย-ประท้วง นั่นเอง