หลังจากได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ้กรายหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 1.56 นาที โดยระบุว่าข้อความว่า “เพื่อความสะอาด ควรล้างเส้นก่อนลวก ผักบุ้งหมด เอาผักตบแทน จะได้ไม่ขาดตอน” โดยคลิปนั้น เจ้าตัวกล่าวว่า เป็นคลิปที่ได้มาจากในไลน์ในกลุ่มเพื่อนฝูง รายละเอียดในคลิปวิดีโอ เป็นการเรียกซื้อซื้อก๋วยเตี๋ยวเรือรับประทานแบบคนสมัยก่อน ก่อนที่แม่ค้าจะจอดเรือเทียบและนั่งรับประทานกัน โดยในระหว่างที่มีการทำก๋วยเตี๋ยวนั้น แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวเรือได้ใช้วิธีล้างเส้นในลงคลอง ก่อนที่จะนำมาลวกเพื่อปรุงใส่จานอีกที และทั้งสองชามที่มีการสั่งซื้อนั้นใช้วิธีการล้างเส้นแบบเดียวกัน
หลังจากคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ โดยความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝั่งหนึ่งมองว่าการใช้วิธีล้างเส้นในน้ำคลองเช่นนี้ อาจมีสารปนเปื้อน และมีเชื้อโรคหลากหลายชนิด แม้จะนำมาลวกให้สุกต่อก็ตาม ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่า เป็นวิถีของคนดั้งเดิมที่ทำกันเป็นปกติ หากคนที่มองว่าไม่สะอาด ก็สามารถเลือกไม่รับประทานก็ได้
โดยจากการตรวจสอบของทางทีมงานพบว่า คลิปนี้ เป็นคลิปที่ถูกเผยแพร่ใน Youtube ตั้งแต่เมื่อ 16 ก.พ. 2556 และเหตุเกิดขึ้นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ระดับน้ำในแม่น้ำไม่ได้สะอาดอย่างที่คิด
ในสภาพปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำ มีเชื้อโรคต่างๆ ปะปนอยู่ไม่น้อย โดยจากรายงานสภาพคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษจะเห็นว่า สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ตั้งแต่จุดตรวจวัดบริเวณสะพานเดชาติวงศ์ จ.นครสวรรค์ ยังคงอยู่ในระดับ แต่เมื่อไหลมาถึงจุดตรวจวัดบริเวณหน้าที่ว่าการอ.พระประแดง สภาพคุณภาพของน้ำ แย่ลง อยู่ในระดับเสื่อมโทรมมาก ( ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561)
โดยในรายงานประจำปี 2561 นั้นระบุว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก 59 แม่น้ำ และแหล่งน้ำนิ่ง 6 แหล่งของประเทศไทย ปี2561 มีแหล่งน้ำที่มีดัชนีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 45 เกณฑ์พอใช้ร้อยละ 43 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 12 แต่ไม่มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมากและเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก (ข้อมูล ณ มกราคม -กันยายน 2561) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี2560 แหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 เป็นร้อยละ 88 และแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลงจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 12 แหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคุณภาพดีมากกว่าภาคอื่น ขณะที่ภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมกว่าภาคอื่น
ในแหล่งน้ำตามธรรมาชาตินั้น มักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค โลหะหนัก และสารเคมี สำหรับน้ำในแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาน้ำเสีย ที่เกิดจากบ้านเรือนและชุมชนที่สิ่งปฏิกูลที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองโดยตรง นอกจากนี้ยังมีในพื้นที่ใกล้กับการทำเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม ก็จะมีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือโลหะหนักต่างๆ ได้อีกด้วย
ซึ่งเชื้อโรคต่างๆ นั้นมักจะปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่เชื้อต่างๆ สามารถเจริญเติบโตได้ดี ทำให้เมื่อปนเปื้อนกับอาหารหรือน้ำดื่มแล้วมักจะทำให้เกิดโรคเช่น อุจจาระร่วงเฉียบพลัน อหิวาตกโรค บิด ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ เอ เป็นต้น
ลวกฆ่าเชื้อได้ แต่น้ำต้องร้อนพอ
ในความเห็นที่มีการถกเถียงกันถึงเรื่องของการลวกฆ่าเชื้อโรคนั้น จากข้อมูลของกรมอนามัย ระบุว่า อุณหภูมิของน้ำร้อนที่ 80-90 องศาเซลเซียส หากลวงนาน 2-4 นาที จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ดี แต่หากจะทำลายเชื้อไวรัสต้องใช้อุณหภูมิถึง 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป นาน 4 นาที เชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคส่วนใหญ่เจริญได้ดี ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 5-63 องศาเซลเซียส ดังนั้นการลวกเส้นด้วยน้ำร้อนที่สูง ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้บ้าง แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร
รู้ว่า เสี่ยงแต่หลายคนก็โอเค
จากหลายความเห็นในคลิปดังกล่าว ต่างมีความเห็นต่างไปว่า ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเมนูอาหารในบ้านเราล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงกันอยู่หลายเมนูด้วยกัน เช่นเมนูอย่าง ลาบเลือด ลาบดิบ ซกเล็ก ต่างๆ ที่มีการใส่เลือดสดๆ หรือไม่เว้นแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเช่นเดียวกับในคลิป ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป ที่มีการใส่เลือด ลงในน้ำก๋วยเตี๋ยวเพื่อความอร่อย ทำให้หลายความเห็นจึง รู้สึกยอมรับได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปดังกล่าว