สทนช. เฝ้าระวังพื้นที่ 7 จังหวัด 15 อำเภอ เสี่ยงเกิดภัยแล้งเพิ่มเติม พร้อมเรียกประชุมสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำอีกครั้งวันที่ 1 พฤษภาคม
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์หลังประกาศภัยแล้ง 5 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ว่า ได้แจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่แล้ว โดยจะมีแผนสำรองน้ำกรณีหน้าแล้งยาวนานถึงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน โดยเฉพาะจะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เพราะยังมีพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคอยู่อีก 7 จังหวัด 15 อำเภอ คือ ภาคเหนือ บริเวณเชียงใหม่ นครสวรรค์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณชัยภูมิ นครราชสีมา เลย และภาคกลาง บริเวณกาญจนบุรี ราชบุรี ที่ต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังพบมีการปลูกพืชเกินจากแผนที่วางไว้ ด้วยการดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงทั้งผิวดินและใต้ดินรัศมี 50 กิโลเมตร จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดการปลูกพืชหน้าแล้งและพืชต่อเนื่อง ควบคู่กับเน้นสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและการปรับตัวให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน
ทั้งนี้ ช่วงเดือนเมษายนอากาศร้อนจัดทำให้แหล่งน้ำหลายแห่งสูญเสียน้ำจากการระเหยมากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่โชคดีที่เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นมาช่วยเติมเต็มน้ำในแหล่งน้ำและคลายความแห้งแล้งลงได้บ้าง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น แต่อาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมในหลายพื้นที่ โดยจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เพื่อกำหนดแผนเป็นรายพื้นที่ทั้งพื้นที่ประกาศภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงให้เกิดความชัดเจนในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง
ด้านเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งลักษณะเป็นเกาะ เช่น เกาะภูเก็ต เกาะสีชัง ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย จึงให้การประปาส่วนภูมิภาคร่วมกับจังหวัดจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำรองให้เพียงพอจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม พร้อมทั้ง ขยายระยะเวลาการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำรองรับให้ครอบคลุมจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนจะมีน้ำใช้เพียงพอจนกว่าฤดูฝนจะมาถึง