หลังจากที่มีกระแสข่าวรายงานถึงร่าง พ.ร.บ. อทุยานฯ ฉบับใหม่ที่เข้าสู่ สนช. ให้พิจารณานั้น หลายฝ่ายโดยเฉพาะชาวบ้าน ชุมชนที่ตั้งรกรากทั้งในและรอบพื้นที่อุทยานฯ, วนอุทยาน หรือพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ตามร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับใหม่นี้
ต่างตั้งข้อสังเกตและเป็นห่วงถึงระดับความรุนแรงของกฎหมายที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น เช่น การเก็บหาของป่า – เก็บเห็ด อาจจะมีโทษสูงถึง จำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการเข้าครอบครองพื้นที่ในเขตอนุรักษ์นั้นมีโทษจำคุกสูงถึง 20 ปีเลยทีเดียว
ข้อกังวลต่างๆ เหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยกระดับของพ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับใหม่ ดูจะน่ากลัวในมุมของชาวบ้าน-ชุมชนที่อาศัยหรือตั้งรกรากมาก่อนที่จะประกาศพื้นที่อนุรักษ์มากทีเดียว แต่ข้อเท็จจริงแล้วเป็นอย่างไร ทีมข่าว MThai จะมาเจาะประเด็นข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
ข้อควรรู้ว่าด้วย พ.ร.บ.อุทยานฯ
“นายทุนบุกรุกป่า ทำไมโทษนิดเดียว”, “ล่าสัตว์ในป่า ทำไมยังรอดอยู่” ฯลฯ หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คนในช่วงที่ผ่านมานั้น แลดูจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่สั่งสมมาตามความ “เก่าแก่” ของกฎหมายฉบับนี้
พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ มีประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนจะมีการปรับครั้งสุดท้ายคือ ปี พ.ศ. 2532 ในสมัยของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งในการแก้ไขครั้งนั้น สืบเนื่องมาจากการประกาศ “ปิดป่า” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 แก้ไข พ.ศ. 2532 นั่นเอง
ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับใหม่นี้ จะเข้ามาแทนฉบับเก่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจาก จะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความเก่าแก่ จึงกลายเป็นปัญหาความไม่ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของความครอบคลุม ปัญหาของพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ การผลักดันกฎหมายอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยเช่น พ.ร.บ. ป่าชุมชน เป็นต้น
ร่างพ.ร.บ. อุทยานฯ เจ้าปัญหา
จากการตรวจสอบข้อมูลของทีมข่าว MThai พบว่า ฉบับร่างพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นั้นคือ “ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. ” ฉบับล่าสุด ที่มีการส่งมาถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา
เนื้อหาใจความของร่างพ.ร.บ. ที่กำลังเป็นประเด็น และมีการยื่นเรื่องขอให้ชะลอพิจาณาร่างดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากมีจุดที่ถูกตั้งขอสังเกตและกังวลต่อ มาตราที่ 4 ซึ่งเป็นข้อที่ระบุคำนิยามต่างๆ เอาไว้ ซึ่งคำว่า “ของป่า” ไม่ได้ถูกนิยามไว้
ซึ่งหากเทียบกับร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ฉบับที่เสนอโดยประชาชน จะเห็นว่า มีข้อแตกต่างกันอยู่ในส่วนของ การให้คำนิยาม “ของป่า” “สัตว์” และ “ชุมชน”
ซึ่งในส่วนนี้เอง ทำให้ตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเสนอร่างดังกล่าว เกิดความวิตกกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า การใช้ชีวิตของประชาชนโดยรอบพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ที่เคยใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ รังผึ้ง-น้ำผึ้งต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากส่วนที่หายไปนี้
เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ เก็บน้ำผึ้ง ผิดปรับ 5 แสน คุก 5 ปี จริงหรือ?
ในร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับใหม่ มีการกำหนดบทลงโทษ สำหรับผู้กระทำความผิดไว้ว่า
มาตร ๔๒ ผู้ใดเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำผิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลและมีมูลค่าไม่เกินสองพันบาท ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ที่เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อนหรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท
จากข้อความในร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ในมาตราที่ 42 จะเห็นว่า มีการตั้งโทษในการกระทำผิดไว้สูงจริง แต่หากมองที่วรรคท้าย ในกรณีของชาวบ้านทั่วไป หากเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้ และมีมูลค่าต่ำกว่า 2000 บาท ก็จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 5 พันบาท เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้จำคุกแต่อย่างใด
……………….
ดังนั้นเก็บเห็ด หน่อไม้ น้ำผึ้ง รังผึ้งนั้น เป็นทรัพยากรณธรรมชาติที่เกิดขึ้นและทดแทนใหม่ได้ตามฤดูกาลโดยปรกติทั่วไป ก็ไม่น่าจะมีโทษปรับถึง 5 แสน หรือ จำคุก 5 ปี นั่นเอง
……………….
แต่ก็ยังคงมีข้อกังวลคงจะอยู่ที่ “มูลค่า” ของของป่าที่เก็บมานั่นเอง
แม้ว่า ไม่ได้ติดคุก ปรับไม่ถึง 5 แสน แต่ก็ไม่รอด
จากมาตราที่ 42 ที่มีการระบุข้อยกเว้นไว้ ในกรณีของของป่าที่แม้ว่า จะไม่ได้มีโทษจำคุก หรือปรับสูงมากนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ยังคงกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเก็บหาของป่าจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายทันที นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านเป็นกังวลอย่างมาก ในตอนนี้
หากย้อนกลับไปดูร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ในฉบับประชาชน จะมีระบุเพิ่มเติมไว้ ในมาตรา 27 เรื่องการอนุญาต โดยเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานในบางกรณี ซึ่งเอื้อให้ชุมชนดั้งเดิมสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
มาตรา ๒๗ (๕) ในการเก็บหาของป่าหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดที่เกิดใหม่ทดแทนได้ เป็นฤดูกาลหรือเป็นคราวๆ ไป
ซึ่งร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชนนั้น เปิดช่องให้ชาวบ้านสามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่อุทยาน ในการเข้าไปเก็บหาของป่าได้ โดยไม่ผิดแต่อย่างใด และข้อความในร่างฉบับประชาชน ก็ยังสอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับในเว็บกรมอุทยานฯ (http://www.dnp.go.th/nplaw/) ที่ระบุข้อความเดียวกันนี้ แม้ว่าจะอยู่ในคนละมาตรากันก็ตาม
ความไม่ตรงกันเรื่องชุมชนในพื้นที่อุทยานฯ ระหว่างร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน VS ฉบับล่าสุด
นอกจากเรื่องของการเก็บหาของป่าแล้ว ยังคงมีประเด็นในส่วนของเรื่อง “ชุมชน” ซึ่งในร่างฉบับประชาชนนั้น มีการระบุชัดเจนถึงชุมชนในพื้นที่อุทยานฯ แต่ในฉบับที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ของ สนช. ตอนนี้ ไม่ได้ระบุนิยามถึงชุมชนแต่อย่างใด แต่มีการเอ่ยถึง “ประชาชน” ที่อาศัยหรือทำกินอยู่ภายในเขตอุทยานฯ แทน
ทำให้กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนต่างเป็นห่วง “ชุมชน” ที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯ อีกด้วย
นอกจากปัญหาที่ว่าแล้วมีอะไรอีกหรือไม่?
ในการศึกษาร่างพ.ร.บ. อุทยานฯ ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับประชาชน ที่เสนอต่อรัฐสภา, ฉบับจากในเว็บของกรมอุทยาน และฉบับล่าสุดที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ สนช. พบว่า
รายละเอียดของการแก้ไขนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงให้กฎหมาย มีความทันสมัยมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันมากขึ้น อีกทั้งยังเปิดช่องให้อุทยานฯ สามารถนำรายได้ต่างๆ มาพัฒนาพื้นที่ กำลังพล ได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากทุกวันนี้ สภาวะ “ตกเบิก” ยังคงมีอยู่เช่นหลายสิบปีก่อน
นอกจากนี้ ในมาตรา 30 ของร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับสนช. ยังเปิดช่องให้อุทยานฯ นำรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม มาใช้พัฒนา ส่งเสริม หรือสนับสนุนเทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลโดยรอบพื้นที่ในด้านการส่งเสริม สนับสนุน บำรุงรักษาพื้นที่อุทยานฯ อีกด้วย
ในส่วน ผู้ที่บุกรุกถือครองพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานฯ วนอุทยาน ก็คงต้องคิดหนักมากขึ้น เนื่องจากอัตราโทษที่หนักขึ้นกว่าเดิม เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจัดการ กับสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ได้ดีขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคล
ดังนั้น โดยรวมแล้ว ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่นี้ หากสามารถแก้ไขปัญหาในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ได้ ก็จะถือว่า เป็นหนึ่งในพ.ร.บ. ที่มีการปรับปรุง-พัฒนาไปในทางที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว
ทางทีมข่าว MThai คงได้แต่คาดหวังว่า ในประเด็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อเห็นคนอยู่ร่วมกับป่าได้ในอนาคตอันใกล้นี้
……………………………
อ้างอิง
– เว็บไซต์รัฐสภา ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชน ( https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/more_news.php?cid=4372 )
– ร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ จากเว็บไซต์กรมอุทยาน ( http://www.dnp.go.th/nplaw/doc/draft.pdf)
– ร่างพ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับล่าสุดที่ส่งให้ กรรมาธิการ ของ สนช. (http://web.senate.go.th/bill/bk_data/468-1.pdf)