กัญชา

องค์การเภสัชกรรมยืนยัน สารสกัดต้นแบบน้ำมันกัญชา ระยะที่ 1 เน้นการศึกษาวิจัย

องค์การเภสัชกรรมยืนยัน สารสกัดต้นแบบน้ำมันกัญชา ระยะที่ 1 เน้นการศึกษาวิจัย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาคุณภาพมาตรฐาน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงการดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 ว่า องค์การฯ…

Home / NEWS / องค์การเภสัชกรรมยืนยัน สารสกัดต้นแบบน้ำมันกัญชา ระยะที่ 1 เน้นการศึกษาวิจัย

องค์การเภสัชกรรมยืนยัน สารสกัดต้นแบบน้ำมันกัญชา ระยะที่ 1 เน้นการศึกษาวิจัย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาคุณภาพมาตรฐาน

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงการดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 ว่า องค์การฯ ได้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย แพทย์ เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ นักกฎหมาย รวมทั้งผู้ที่มีประสบการณ์ใช้ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการนำกัญชามาให้ประโยชน์ทางการแพทย์

ซึ่งหากจะผลิตเป็นยาก็ต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ต้องให้เข้าสู่ Medical Grade ให้ได้ เน้นคุณภาพ ให้ได้สารสำคัญ THC และ CBD ที่เหมาะสมในการรักษาโรคที่แตกต่างกัน นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ มีการควบคุมคุณภาพสารสำคัญต่าง ๆ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน จึงทำให้ต้องปลูกในระบบปิด ในอนาคตเมื่อองค์การฯ มั่นใจว่าการผลิตของตัวเองมีคุณภาพ ก็อาจร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในการปลูกและผลิตต่อไป

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การปลูกกัญชาที่องค์การฯ ดำเนินการในครั้งนี้ เน้นการศึกษาวิจัย และผลิตยาที่มีความจำเป็นในระบบสาธารณสุขไทย เป็นการสร้างนวัตกรรมยา เวชภัณฑ์ใหม่ ๆ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นมาตรฐานสากล สอดรับกับรูปแบบการใช้ดูแลรักษาสุขภาพ สำหรับการปลูกใช้งบประมาณขององค์การฯ ใช้เทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics)

ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade เพื่อควบคุมมาตรฐานการปลูกให้ปลอดเชื้อ ปลอดเชื้อรา มีการควบคุมแสงควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลที่เรียกว่ามาตรฐานการผลิตเป็นยา ซึ่งจะทำให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชา ที่มีคุณภาพสูง มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัย

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตามแนวทางของผู้ผลิตกัญชาทางแพทย์ชั้นนำของโลก ประกอบด้วย 7 G ดังนี้ GAP : Good Agricultural Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี GLP : Good Laboratory Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี GMP: Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาที่ดี GCP : Good Clinical Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี GDP : Good Distribution Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการจัดส่งยาที่ดี GSP : Good Security Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานด้านการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี GIP : Good Information Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี

การปลูกด้วยระบบนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของกัญชา และได้ปริมาณสารสำคัญตามสัดส่วนและปริมาณ THC และ CBD ที่เหมาะสมสำหรับมาใช้ทางการแพทย์ และที่สำคัญจะไม่มีการปนเปื้อน โลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งหากปลูกกัญชาบนดินทั่ว ๆ ไปแล้วธรรมชาติของกัญชาจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ดูดซึมสารพิษเหล่านั้นได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น จึงเชื่อมั่นว่าการปลูกด้วยระบบ(Aeroponics) จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้บริโภค

โดยจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 3-4 เดือน คาดว่าเดือนกรฎาคม 2562 จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมัน หยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี โดยสารสกัดน้ำมันกัญชาทั้งหมดจะนำไปใช้ในโครงการวิจัยทางคลินิกต่อไป ซึ่งผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยทางคลินิก หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถที่จะได้รับสารสกัดกัญชานี้แน่นอน

ผู้อำนวยการฯ ยังได้กล่าวถึงแผนงานการปลูกกัญชาในโอกาสต่อไปด้วยว่าองค์การฯ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเทคโนยีการปลูกเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมาตรฐาน Medical Grade ไว้อีกด้วย รวมถึงมีโครงการการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Phase) ระยะที่ 2 มีทั้งปลูกในอาคาร indoor และโรงเรือนปลูกพืช (greenhouse) หรือกระโจมใช้แสงแดด แต่หากต้องการแสงมากก็อาจติดหลอดไฟเฉพาะเพิ่มเติม

และยังมีระบบปิดหลังคารอบ ป้องกันแสดงได้ ซึ่งอิสราเอลทำอยู่ เพื่อวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ให้สารสำคัญสูง และทนต่อโรคต่างๆ และสามารถปลูกในโรงเรือนปลูกพืช ที่ลดต้นทุนลงมาได้ต่อไป การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่ 3 การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Phase) โดยเริ่มการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรภายในที่พื้นที่อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

ข้อมูลจาก องค์การเภสัชกรรม