ประเด็นน่าสนใจ
- มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับอาสาสมัคร 1,077 คน
- โดยร่างกายของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน สามารถต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้
- วัคซีนชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19
สำนักข่าว BBC ไทย รายงานว่า การทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับอาสาสมัคร 1,077 คน พบว่ามีความปลอดภัยและสามารถฝึกฝนระบบภูมิคุ้มกันได้สำเร็จ โดยร่างกายของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีและเม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้
งานวิจัยนี้ทำให้เกิดความหวังท่ามกลางความพยายามในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ แต่ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะรู้ว่าจะวัคซีนสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ และนักวิจัยกำลังดำเนินการทดลองที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมมากกว่านี้ แต่ถึงอย่างนั้น ขณะนี้ทางการสหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อวัคซีนชนิดนี้ 100 ล้านเข็มแล้ว
วัคซีนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มีชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19 เป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดในชิมแปนซี ที่ถูกนำมาดัดแปลงพันธุกรรมจนไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้ และทำให้มีลักษณะคล้ายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สามารถเรียนรู้ว่าจะจัดการมันได้อย่างไร
วัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ไม่อันตราย อย่างไรก็ดี อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองราว 70% บอกว่ามีอาการตัวร้อนและปวดศีรษะ ซึ่งนักวิจัยระบุว่าสามารถใช้ยาพาราเซตามอลบรรเทาอาการดังกล่าวได้
ศ.ซาราห์ กิลเบิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ยังต้องทำการทดลองเพิ่มเติมอีกก่อนจะยืนยันได้ว่าวัคซีนชนิดนี้จะใช้ป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แต่ผลการทดลองในเบื้องต้นนี้ถือว่าน่าพอใจ
วิธีรักษาอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ ผลการทดลองในขั้นแรกโดย ซิแนร์เจ็น(Synairgen) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากเมืองเซาธ์แฮมป์ตันของอังกฤษ พบว่า การใช้โปรตีนที่ชื่อว่า อินเตอร์เฟอรอน เบตา(interferon beta) สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวนมากให้ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยหนักได้
โดยปกติแล้ว ร่างกายจะผลิตโปรตีนชนิดนี้เมื่อติดเชื้อไวรัส นักวิจัยได้ให้คนไข้หายใจเอาโปรตีนนี้เข้าไปในร่างกายผ่านเครื่องพ่นละอองยา (nebuliser) โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ผลการทดลองในระยะแรกพบว่าวิธีรักษานี้ลดโอกาสเสี่ยงที่คนไข้จะต้องเข้าแผนกผู้ป่วยหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 79%
ซิแนร์เจ็น อ้างว่า คนไข้ที่รักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสมากกว่า 2-3 เท่าที่จะกลับมาหายดีถึงขั้นใช้ชีวิตปกติได้
นอกจากนี้บริษัทนี้ยังบอกว่าช่วยลดอาการหายใจติดขัดได้มาก และลดเวลาโดยเฉลี่ยที่คนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลลงถึง 1 ใน 3 คือจากโดยเฉลี่ย 9 วัน เหลือ 6 วัน
ยังไม่ยืนยันผล
ตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ ซิแนร์เจ็นต้องรายงานผลการทดลองในขั้นต้น อย่างไรก็ดี เมื่อยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ และงานวิจัยยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อมูล บีบีซีจึงยังไม่สามารถยืนยันผลดังกล่าวได้
ทอม วิลคินสัน หัวหน้านักวิจัย บอกว่า หากผลการวิจัยนี้ได้รับการยืนยันอีกขั้นในการทดลองระดับใหญ่ขึ้น การรักษาวิธีนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19
ขั้นตอนต่อไป
อาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะผ่านกระบวนการอนุมัติให้นำการรักษาวิธีนี้ไปใช้ได้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหราชอาณาจักรบอกว่าจะเร่งอนุมติวิธีหรือตัวยาที่มีแนวโน้มรักษาโควิด-19 ให้เร็วเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับกรณีของยาเรมเดซิเวียร์เมื่อเดือน พ.ค.
หรืออีกวิธีหนึ่งคือทางการอาจจะอนุญาตให้ใช้วิธีการรักษานี้โดยให้แพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
วิธีการ
โปรตีนที่ชื่อว่า อินเตอร์เฟอรอน เบตา เป็นปฏิกิริยาขั้นแรกของร่างกายเวลาเผชิญกับไวรัส
ดูเหมือนว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะสามารถไปยับยั้งการผลิตโปรตีนตัวนี้ได้ และการรักษาวิธีนี้จะให้คนไข้หายใจเอาโปรตีนอินเตอร์เฟอรอน เบตา เข้าไปในร่างกายโดยผ่านเครื่องพ่นละอองยา
ปกติแล้ว มีการใช้โปรตีนอินเตอร์เฟอรอน เบตา เพื่อการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส (MS) อยู่แล้ว
การทดลองในครั้งที่แล้วๆ มาโดยซิแนร์เจ็นพบว่า การรักษานี้สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ และผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้และเป็นโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรังไม่มีปัญหากับการรักษาวิธีนี้
ผู้เชี่ยวชาญว่าอย่างไร
ศ.สตีฟ กูเดเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนกฉุกเฉินจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ บอกว่า ต้องมีข้อมูลครบถ้วนก่อนที่จะสามารถสรุปอะไรได้ ส่วน ศ.นาวีด สัตตาร์ จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ บอกว่า ผลการทดลองให้ผลน่าพอใจ และแม้จะเป็นการทดลองขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 100 คน แต่การได้ผลถึงร้อยละ 79 ถือว่าการรักษาวิธีนี้อาจเป็นตัวแปรสำคัญได้
อย่างไรก็ดี ศ.สัตตาร์ บอกว่า เมื่อจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองยังน้อยอยู่ ความแม่นยำของประสิทธิภาพที่แท้จริงด้วยการรักษาวิธีนี้ก็น้อยลงไปด้วย และไม่แน่ใจว่าจะให้ผลในการรักษากับผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความเสี่ยงต่างกันอย่างไร
ข้อมูล : BBC