นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เลือกตั้ง62

‘นิพิฏฐ์’ โพสต์แนะประชาธิปไตย มิใช่ความคิดสุดโต่ง ให้ประชาชนเลือกข้าง

“นิพิฏฐ์” โพสต์เฟซบุ๊กแนะประชาธิปไตยมิใช่ความคิด “สุดโต่ง” ให้ประชาชน “เลือกข้าง” ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมีธรรมาภิบาล มีหลักนิติรัฐ วันนี้(16 มี.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ”…

Home / NEWS / ‘นิพิฏฐ์’ โพสต์แนะประชาธิปไตย มิใช่ความคิดสุดโต่ง ให้ประชาชนเลือกข้าง

“นิพิฏฐ์” โพสต์เฟซบุ๊กแนะประชาธิปไตยมิใช่ความคิด “สุดโต่ง” ให้ประชาชน “เลือกข้าง” ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมีธรรมาภิบาล มีหลักนิติรัฐ

วันนี้(16 มี.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ในหัวข้อ “ประชาธิปไตย กับ เสรีนิยมประชาธิปไตย” โดยข้อความทั้งหมดระบุว่า

ตั้งหลักกันดีๆนะครับ ประชาธิปไตยมิใช่ความคิด”สุดโต่ง” ที่ให้พี่น้องประชาชน”เลือกข้าง” เพราะประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่แล้ว มิใช่ว่า หากเลือกฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่หากเลือกฝ่ายนี้จะเป็นฝ่ายเผด็จการ ลองตอบคำถามง่ายๆดูนะครับ ทำไมฝ่ายที่อ้างตัวเองตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจึง”ติดคุก”กันเกือบครึ่งครม.แล้ว และที่หนีอยู่ต่างประเทศก็เป็นร้อย ประชาธิปไตยมิใช่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องมีธรรมาภิบาล หรือ มีหลักนิติรัฐด้วย ตามคำกล่าวที่ว่า “ประเทศมิได้ปกครองด้วยรัฐบาล แต่ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย” ประเทศไทยจึงมีพรรคการเมือง 2 ฝ่ายที่สู้กันอยู่ในสนามเลือกตั้ง อย่างเข้มข้น คือ 1.ฝ่ายประชาธิปไตย 2.ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย

เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นการปกครองด้วยเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยจึงมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ ที่เรียกว่า”เผด็จการเสียงข้างมาก” ระบอบประชาธิปไตยจึงพัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันเผด็จการเสียงข้างมาก ระบอบที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรียกว่า”เสรีนิยมประชาธิปไตย” คือมีวิธีการคุ้มครองเสียงข้างน้อยจากเสียงข้างมากมากขึ้น ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ในประเทศไทยเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน นับแต่ 2540 เป็นต้นมาเราจึงเห็นฝ่ายเสียงข้างมากที่ไม่มีหลักนิติรัฐหนีออกต่างประเทศ และเดินเข้าคุกกันเป็นแถว เครื่องมือสำคัญของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยคือ”องค์กรอิสระ” พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่าย”เสรีนิยมประชาธิปไตย” มาตั้งแต่ 6 เมษายน 2489 ซึ่งเป็นวันก่อตั้งพรรค เราจึงมิใช่พรรคเฉพาะกิจแต่เป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เดินเคียงคู่กับประเทศไทยมายาวนาน

ที่มา นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

สำหรับ ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) หมายถึง ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้นการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยก็คือ รูปการปกครองที่ยึดถืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ลักษณะของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย คือ “ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ” ซึ่งเป็นวาทะของอับราฮัม ลินคอลน์ ( Abraham Lincoln) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

การเลือกตั้ง

ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเสนอตัวเข้ารับใช้ส่วนรวมโดยการสมัครรับเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้พลเมืองใช้สิทธิในการที่จะเลือกบุคคลที่ตนต้องการให้เป็นผู้ปกครอง หรือเป็นผู้ใช้สิทธิเป็นปากเสียงแทนตนในสภา ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การมีสิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวยังไม่เป็นการเพียงพอ ต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิในการใช้สิทธินั้นด้วยว่า สามารถใช้ได้อย่างเสรีเต็มที่และมีโอกาสเลือกสรรตัวบุคคลที่ต้องการจริง ๆ คือ ต้องมีการลงคะแนนแบบลับ (Secret Ballot)

วิถีชีวิตประชาธิปไตย ลักษณะสำคัญของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย อาจจำแนกได้ดังนี้

1. เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล โดยไม่ศรัทธาบุคคลใดถึงชั้นปุชนียบุคคล (แต่ก็ต้องกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ) จะต้องไม่เคร่งครัดเรื่องระบบอาวุโส (แต่ก็ต้องให้ความเคารพผู้อาวุโส) ประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริง เพราะเหตุผลเท่านั้นที่จะจรรโลงให้ประชาธิปไตยดำเนินไปได้ และประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล

2. รู้จักการประนีประนอม คือ ยอมรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ไม่นิยมความรุนแรง ต้องรู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดมั่นหรือดึงดันแต่ความคิดเห็นของตนเองโดยไม่ยอมผ่อนปรนแก้ไข และต้องยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขความคิดเห็นของตนเองเมื่อผู้อื่นมีความคิดเห็นที่ดีกว่า ปรัชญาประชาธิปไตย โดยพื้นฐานไม่ปรารถนาให้มีการใช้กำลังและการล้มล้างด้วยวิธีการรุนแรง เพราะถ้ามีการใช้กำลังและความรุนแรงแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีหรือไม่ใช้เหตุผล ซึ่งก็ขัดกับหลักความเชื่อขั้นมูลฐานของประชาธิปไตยที่ถอว่ามนุษย์มีเหตุผล

3. มีระเบียบวินัย คือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ และช่วยทำให้กฎหมายของบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ยอมให้ผุ้ใดมาละเมิดตามอำเภอใจ แต่ถ้ามีความรู้สึกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ไม่เป็นธรรม ก็ต้องหาทางเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น มิใช่ฝ่ายฝืนหรือไม่ยอมรับ การใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนละเมิดหรือก้าวก่ายในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม เพราะสังคมที่ไม่มีการจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพเลยนั้นหาใช่สังคมประชาธิปไตยไม่แต่เป็นสังคมอนาธิปไตยที่เปรียบเสมือนไม่มีรัฐบาล ไม่มีกฎหมาย ไร้ระเบียบวินัยทางสังคมโดยสิ้นเชิง

4. มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งเกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนในสังคมว่า ตนเป็นเจ้าของประเทศ และประเทศเป็นของคนทุกคน โดยสำนึกว่า การที่ตนได้รับการศึกษา สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะสังคมอันเป็นส่วนรวมของทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน นอกจากนี้ลักษณะวิถีชีวิตประชาธิปไตยยังมีอีกหลายประเด็น เช่น ต้องเป็นคนหนักแน่นไม่หูเบา, ต้องไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ , มีทัศนะที่ดีต่อคนอื่น, ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น, เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, มีน้ำใจเป็นนักกีฬาคือรู้แพ้รู้ชนะ เป็นต้น

 

ที่มา เว็บไซต์ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอน สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข