ประเด็นน่าสนใจ
- กรมอุตุฯ คาดการประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้
- ปริมาณฝนปีนี้ น้อยกว่าปรกติ ราว 5% แต่ยังมากกว่าปี 2562
- ในช่วงปลายเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2563 จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่
- ช่วงสิงหาคม – กันยายน จะมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งมีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อน จึงอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ การคาดการฤดูฝนของไทยในปี 2563 นี้ โดยคาดว่า ฤดูฝนของประเทศไทยจะเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2563 ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม 2563
โดยภาพรวมปริมาณน้ำฝนในปีนี้ จะน้อยกว่าค่าปรกติ ประมาณร้อยละ 5 แต่จะยังคงมีปริมาณน้ำมากกว่าฤดูฝนในปี 252 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงต้นฤดูฝนที่จะถึงนี้ ปริมาณฝนระหว่างเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปรกติ ช่วงกลางฤดูจะมีปริมาณใกล้เคียงกับค่าปรกติ ก่อนจะไปลดลงในช่วงปลายฤดูกาลราวร้อยละ 5%
ต้นฤดูฝน ( พฤษภาคม – มิถุนายน 2563)
ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนมากกว่าพื้นที่อื่น คือจะมีฝนตกร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักหลายแห่ง รวมถึงอาจจะมีฝนตกนักมากบางแห่ง
นอกจากนี้อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้นในทะเลอันดามัน ทำให้กลายเป็นพายุดีเปรสชั่น หรือ พายุไซโคลน และเคลื่อนเข้าสู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทย
ช่วงปลายเดือนมิถุนายน – กรกฏาคม
ปริมาณฝนจะลดลง ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางแห่ง อาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือ พื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก
ช่วงเดือนกรกฏาคม – กันยายน 2563
ฝนจะเริ่มกลับมาชุกอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีฝนตกร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ร่วมกับการมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือ น้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่
โดยในช่วงระหว่างเดือน สิงหาคม – กันยายน คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
ปลายฤดูฝน (ตุลาคม 2563)
ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง โดยเริ่มจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน จากนั้นจะตามด้วยภาวะอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า บริเวณตอนบนของภาค
แต่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมาบางพื้นที่
เตือน/ระวัง
- พฤษภาคม อาจเกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้ง เป็นลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายได้
- สิงหาคม-กันยายน อาจจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ต่อเนื่องกันหลายวัน ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำล้นตลิ่งได้
- พายุหมุนเขตร้อน มีแนวโน้มจะเป็นพายุลมแรง ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ บริเวณชายฝั่งจะมีคลื่นลมแรง คลื่นอาจจะสูงถึง 3-4 เมตร
พยากรณ์รายภาคในช่วงฤดูฝน 2563
ภาคเหนือ
- พฤษภาคมและตุลาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 และ 20 ตามลำดับ (ค่าปกติ 178 และ 124 มิลลิเมตร)
- มิถุนายนและสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติ ร้อยละ 5 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 156 และ 223 มิลลิเมตร)
- กรกฎาคมและกันยายน ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 176 และ 218 มิลลิเมตร)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- พฤษภาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 187 มิลลิเมตร) จากนั้น ปริมาณฝนรวมจะต่่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5 – 20 (ค่าปกติ 203, 211, 266, 242 และ 117 มิลลิเมตร ตามลำดับ)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- พฤษภาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 187 มิลลิเมตร) จากนั้น ปริมาณฝนรวมจะต่่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5 – 20 (ค่าปกติ 203, 211, 266, 242 และ 117 มิลลิเมตร ตามลำดับ)
ภาคกลาง
- พฤษภาคมและตุลาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะต่่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 และ 20 ตามลำดับ (ค่าปกติ 172 และ 187 มิลลิเมตร)
- มิถุนายน กรกฎาคมและกันยายน ปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 5 และ 5 ตามลำดับ (ค่าปกติ 145, 156 และ 257 มิลลิเมตร)
- สิงหาคม ปริมาณ ฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 181 มิลลิเมตร)
ภาคตะวันออก
- พฤษภาคม สิงหาคมและตุลาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะต่่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 5 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 224 ,303 และ 226 มิลลิเมตร)
- มิถุนายนและกรกฎาคม ปริมาณฝน รวมจะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 5 (ค่าปกติ 262 และ 278 มิลลิเมตร)
- กันยายน ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 330 มิลลิเมตร)
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย)
- พฤษภาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะต่่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 (ค่าปกติ 134 มิลลิเมตร)
- มิถุนายนและสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5
(ค่าปกติ 113 และ 124 มิลลิเมตร) - กรกฎาคม กันยายนและตุลาคมปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ
(ค่าปกติ 119, 150 และ 255 มิลลิเมตร ตามลำดับ)
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน)
- พฤษภาคมและตุลาคม คาดว่าปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติ
ร้อยละ 10 (ค่าปกติ 248 และ 292 มิลลิเมตร) - มิถุนายน กรกฎาคมและกันยายน ปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 5 และ 5 ตามลำดับ (ค่าปกติ 157, 175 และ 334 มิลลิเมตร)
- สิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 219 มิลลิเมตร)
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา