9 เม.ย. 2563 – ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เผยว่าผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติปรับเวลาการเปิด-ปิดของร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม รวมถึงรถเข็นและหาบเร่แผงลอย ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 2 ที่มีการประกาศเคอร์ฟิว กทม. จึงปรับเวลาให้สอดคล้องกับเคอร์ฟิวตั้งแต่ 22.00-04.00 น. และยังมีอีก 12 จังหวัดที่ร่วมมาตราการนี้ด้วย
กทม. งดจำหน่ายสุรา 10-20 เม.ย. 63
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ สิ่งที่อันตรายคือการรวมตัวกันของคนในการเลี้ยงฉลองสรรค์โดยเฉพาะการซื้อสุรา ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนี้ที่ดีขึ้นทุกวัน และไม่อยากให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อจำนวนมากในช่วงนี้จนทำให้ต้องนับหนึ่งใหม่หมด
ดังนั้นจึงออกคำสั่งภายในวันนี้ให้ งดจำหน่ายสุรา ทุกร้านทั้งการขายปลีกและขายส่ง และช่วงเวลาที่งดตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน – 20 เมษายน 2563 โดยร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุรา ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายสุราตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตต้องงดจำหน่ายสุรา ขอความร่วมมือคนทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือ เพราะวันนี้เรามาได้ไกลแล้ว และเหลืออีกนิดเดียวจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงไม่อยากให้พวกเราทุกคนต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่
ทั้งนี้มีอีก 12 จังหวัดที่ร่วมมาตราการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอลล์ด้วย
12 จังหวัด “ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ตลอด 24 ชั่วโมง
- ระยอง ตั้งแต่ 3-15 เม.ย. 63
- สุพรรณบุรี ตั้งแต่ 4-30 เม.ย. 63
- สุรินทร์ ตั้งแต่ 2-30 เม.ย. 63
- ลำพูน ตั้งแต่ 1-30 เม.ย. 63
- สกลนคร ตั้งแต่ 31 มี.ค. – 16 เม.ย. 63
- พิษณุโลก ตั้งแต่ 1 เม.ย. 63 (จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น)
- บุรีรัมย์ ตั้งแต่ 2-30 เม.ย. 63
- นครปฐม ตั้งแต่ 2-30 เม.ย. 63
- มุกดาหาร ตั้งแต่ 6-30 เม.ย. 63
- สมุทรสงคราม ตั้งแต่ 2-30 เม.ย. 63
- เชียงใหม่ ตั้งแต่ 10-20 เม.ย. 63
- กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 10-20 เม.ย. 63
ร.ต.อ. พงศกร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเนื่องจากมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าตัวเอง คนรอบข้าง และคนในครอบครัว ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ หากติดเชื้อแล้วจะทำตัวอย่างไรและมีใครเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ ดังนั้น กทม.จึงทำระบบ BKK Covid-19 ขึ้นมา เพื่อประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 ผ่าน bkkcovid19.bangkok.go.th โดยจะมีการประเมิน 2 ส่วนคือ 1. ประเมินความเสี่ยง และ 2. การประเมินอาการ ซึ่งการประเมินเป็นการออกแบบโดยแพทย์ที่ใช้จริงในโรงพยาบาล
สำหรับประเด็นการขออนุญาตออกนอกเคหสถานในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันหลายคนมีความจำเป็นต้องออกจากพื้นที่และมีอาชีพตามที่ได้มีการยกเว้นนั้น กทม. จึงได้ทำแบบฟอร์มสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด 8 อาชีพ ซึ่งสามารถใช้แบบฟอร์มดังกล่าว เพื่อขออนุญาตรับรองตนเองในการออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์ แต่ในส่วนอาชีพอื่น ๆ นอกเหนือจาก 8 อาชีพดังกล่าวที่ต้องการออกนอกเคหสถาน ก็ได้มีการจัดทำแบบฟอร์มในการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ ดังนั้นอยากให้มีการใช้แบบฟอร์มดังที่กล่าวมานี้ เพื่อขออนุญาตอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และมีใจความสำคัญอย่างครบถ้วน
ภาพปกจาก : unsplash