“นมเกษตร” ยังขายต่อเนื่อง แม้ในช่วงนี้จะโดนผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทางศูนย์ผลิตนมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการจำหน่ายนมโคพาสเจอร์ไรซ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “นมเกษตร” ในราคาเพียงถุงละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา
นมเกษตร ยังคงขายต่อเนื่อง แม้จะเป็นราคาที่ “ขาดทุน”
ต่อแรกคือการช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสหกรณ์โคนม ยังคงมีรายได้จุนเจือครอบครัวต่อไป ซึ่งปัจจุบัน แทบไม่มีสหกรณ์โคนมแห่งใดรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร เพราะไม่รู้ว่าจะผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ไปขายใคร เพราะในตอนนี้โรงเรียนยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดการเรียนการสอนตามปกติ หากไม่มีการรับซื้อน้ำนมวัวที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนำมาขาย เกษตรกรก็ต้องนำไปเททิ้งบ้าง หรือนำไปรดน้ำต้นไม้แทน กลายเป็นเสียของเปล่า
ทั้งนี้ น้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จะต้องมีออกมาทุกวัน ซึ่งโคนม 1 ตัวจะสามารถให้น้ำนมได้ประมาณ 13-15 กิโลกรัมต่อวัน หากไม่ทำการรีดนมวัวออกจากโคนม จะทำให้เต้านมวัวอักเสบ
ต่อที่สองคือเป็นการช่วยระบายสต็อกนมโคซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอนก่อนกำหนด ออเดอร์นมโรงเรียนซึ่งเป็นตลาดหลักของนมพาสเจอไรซ์ก็ถูกยกเลิกด้วย ทั้งนี้นมโคพาสเจอร์ไรซ์จะมีอายุอยู่ได้ 10 วันนับจากวันผลิต
หลังมีการจัดโปรโมชั่นขายในราคาถุงละ 5 บาททุกรสชาติ ก็มีประชาชนให้ความสนใจมาซื้อกันเป็นจำนวนมากมีทั้งซื้อไปรับประทานเอง หรือซื้อนำไปขายต่อ โดยทางศูนย์ผลิตนมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาซื้อนมต้องใส่หน้ากากอนามัย และได้จัดทำพื้นที่ Social distancing ไว้รองรับเพื่อความปลอดภัยของทุก ๆ ท่าน
นอกจากทางศูนย์ผลิตนมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะทำการจำหน่ายแล้ว ท่านอธิการบดียังมีคำสั่งให้นำนมโคพาสเจอร์ไรซ์ที่ผลิตได้ ไปแจกให้กับนิสิตฯที่ไปไหนไม่ได้ และยังอาศัยอยู่ในหอพักได้กิน และยังมีการการสั่งซื้อเพื่อบริจาคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้ง สถานสงเคราะห์เด็กต่างๆ รวมทั้งหมด 16 แห่ง ซึ่งสามารถซื้อไปบริจาคเอง หรือจะให้ทางศูนย์ผลิตนมฯ จัดการนำส่งให้ก็ได้
ทั้งนี้ โปรโมชั่นขายนมโคพาสเจอร์ไรซ์ในราคาถุงละ 5 บาท จะหมดลงในวันที่ 12 เมษายน 2563 นี้ และจะเริ่มจำหน่ายอีกครั้งในวันที่ 14 เมษายนนี้ในราคาถุงละ 7 บาท ถึงแม้จะปรับราคาขึ้นแต่ก็ยังเป็นราคาที่ “ขาดทุน” อยู่ดี
แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้ศูนย์ผลิตนมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังสามารถดำเนินการต่อได้ นอกจากนี้พนักงานของโรงนมก็จะได้มีงานทำและมีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว โดยตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางศูนย์ผลิตนมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังคงให้พนักงานทุกคนทำงาน และรับเงินเหมือนเดิม