ประเด็นน่าสนใจ
- สดร. เผยแสงแรกใหม่ปีเกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไม่ใช่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
- สาเหตุมาจากแกนโลกเอียงในฤดูหนาวเอียงไปทางขวาทำให้ ภาคใต้เห็นแสงอาทิตย์ก่อนภาคอีสาน
จากกรณีที่เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังปรากฏว่าแสงแรกของปี วันที่ 1 มกราคม 2020 ไปโผล่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แทนที่จะเป็นที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตามที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้มีการคาดการณ์ไปก่อนหน้านี้ ทำให้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยพากันไปที่ อ.โขงเจียมเพื่อรอรับแสงแรกของปีนั้น
ล่าสุดทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้มีการออกมาเปิดเผยว่า แสงอาทิตย์แรกของปี เกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ ไม่ใช่ อ.โขงเจียม ตามที่เข้าใจ โดยแสงแรกที่ อ.ตากใบ นั้นเกิดขึ้นก่อน อ.โขงเจียม เพียง 1 นาทีเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่แสงแรกโผล่ที่ อ.ตากใบ เป็นเพราะแกนหมุนโลกเอียงไปทางขวาเป็นมุมประมาณ 23 องศา ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี
ทำให้แนวรอยต่อเช้า ไม่ได้ขนานกับเส้นลองจิจูดเสมอ ปลายด้ามขวานของประเทศไทจึงล้ำไปทางตะวันออกมากกว่า อ.โขงเจียม ดังนั้นจึงทำให้พื้นที่ในประเทศไทยที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นที่แรกในวันปีใหม่ คือ บ้านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี พื้นที่ที่เห็นแสงอาทิตย์แรกของปี คือ อ.บุณฑริก ไม่ใช่ อ.โขงเจียม แต่อย่างใด
อนึ่งในฤดูร้อนแนวรอยต่อจะเอียงซ้ายทำให้ทางตอนเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนทางใต้ที่ลองจิจูดเท่ากัน ส่วนฤดูหนาวรอยต่อจะเอียงขวาทำให้ทางตอนใต้จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนทางเหนือที่ลองจิจูดเท่ากัน