คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

หมู่บ้านห้วยโป่งสามัคคี ชุมชนต้นแบบ ปลอดพาราควอต จ.ลำพูน

เกษตรกรไทยมักกำจัดวัชพืชด้วย “พาราควอต” มาอย่างยาวนาน เพราะเป็นสารเคมีที่เพิ่มความสะดวกสบายให้เกษตรกร ออกฤทธิ์ทำให้พืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่ทำลายระบบรากของพืชหลัก เกษตรกรไทยจึงนิยมใช้ในพืชไร่อย่าง พริกแดง กระเพรา กะหล่ำ คะน้า ชะอม เป็นต้น…

Home / NEWS / หมู่บ้านห้วยโป่งสามัคคี ชุมชนต้นแบบ ปลอดพาราควอต จ.ลำพูน

เกษตรกรไทยมักกำจัดวัชพืชด้วย “พาราควอต” มาอย่างยาวนาน เพราะเป็นสารเคมีที่เพิ่มความสะดวกสบายให้เกษตรกร ออกฤทธิ์ทำให้พืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่ทำลายระบบรากของพืชหลัก เกษตรกรไทยจึงนิยมใช้ในพืชไร่อย่าง พริกแดง กระเพรา กะหล่ำ คะน้า ชะอม เป็นต้น แต่เหรียญไม่ได้มีด้านเดียว พาราควอตก็เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านห้วยโป่งสามัคคี จังหวัดลำพูน ที่เคยได้รับผลกระทบจากการใช้ “พาราควอต”

ชุมชนบ้านห้วยโป่งสามัคคี จังหวัดลำพูน มีสมาชิกทั้งหมด 401 ครัวเรือน อาชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตร แต่พบว่า ทำการเกษตรแบบเคมีมาโดยตลอด สภาผู้นำชุมชนร่วมกับ รพ.สต.แม่ตืน จึงเข้าตรวจสุขภาพชาวบ้านจากการสุ่มตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่าง 150 คน เป็นนักเรียน 50 คน และชาวบ้าน 100 คน ปรากฏว่าพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับเสี่ยง และไม่ปลอดภัยถึง 146 ราย มีผู้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพียง 4 คนเท่านั้นเอง ทั้งที่กลุ่มนักเรียนไม่ใช่กลุ่มที่ต้องสัมผัสสารเคมีโดยตรง แสดงว่าชาวบ้านได้รับสารเคมีผ่านการบริโภคด้วย

สาเหตุหลักมาจากการใช้ พาราควอตในการทำการเกษตร  ถึงแม้พาราควอตจะไม่ทำลายพืชหลักก็จริง แต่ยังมีสารพิษตกค้างอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ เมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวส่วนหนึ่งนำไปขาย อีกส่วนหนึ่งนำมาบริโภคภายในครัวเรือน จึงสะสมอยู่ในร่างกาย ซ้ำร้าย สารเคมีบางส่วนยังซึมลงสู่ดินและไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ส่งผลให้กุ้ง หอย ปู ปลา ในแม่น้ำตายเกือบหมดนำมาบริโภคไม่ได้ เหตุนี้จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาการเจ็บป่วยจากพิษของพาราควอตที่สะสมอยู่ในร่างกาย เช่น ไม่สบาย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คันตามเนื้อตัว นอนไม่หลับ และเป็นมะเร็งจนถึงขันเสียชีวิต ซึ่งพบว่าชาวบ้านที่อายุประมาณ 40 – 50 ปี มักจะเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง

ด้วยผลกระทบนี้ จึงมีการเรียกระดมคนในชุมชนประชุมอย่างจริงจังเพื่อ หามติของคนในชุมชนบ้านห้วยโป่งสามัคคี ในการเลิกใช้พาราควอต ระดมความคิดเห็น ร่วมกันหาทางออก และสร้างการมีส่วนร่วม  มติชุมชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีและการบริโภคที่ไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตประจำวัน ด้วยการดำเนินโครงการปลูกผัก แบบไม่ใช้สารเคมี และให้ความรู้เพื่อลดการใช้สารเคมีลดลง ดังนี้

1. ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรในเขตชุมชน งดใช้สารเคมีในการทำการเกษตรอย่างเด็ดขาด

2. ห้ามติดป้ายโฆษณาสินค้าที่เป็นสารเคมีทางการเกษตรอย่างเด็ดขาด เจอที่ไหนให้ชาวบ้านฉีกทิ้งได้เลย

3. ช่วยหาวิธีให้สารธรรมชาติอื่นทดแทน เช่น ถางหญ้าเอง ทำน้ำหมักฆ่าหญ้าเอง ทำปุ๋ยหมักใช้เอง 

4. จัดสรรพื้นที่ส่วนรวม ให้ปลูกอยู่ปลูกกิน แบ่งพื้นที่ส่วนกลางในชุมชน ให้มาร่วมปลูกผักปลอดสารพิษใช้กินเอง

หลังจากคนในชุมชนมีมติร่วมกัน และปฏิบัติตามอย่างเคร่ง หลังจากการสุ่มตรวจเลือดซ้ำครั้งที่ 2 ก็พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มีผู้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น 40 คน จากเดิม 4 คน ชาวบ้านก็รู้สึกดีและมีกำลังใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น ทำให้หมู่บ้านห้วยโป่งสามัคคี ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ชุมชนธรรมนูญสุขภาพต้นแบบ” ของจังหวัดลำพูน

ติดตามชมคลิปปฏิบัติการลุก ปลุก เปลี่ยน ได้ที่ Youtube : healthstation official
ตอน ชุมชนปลอดพาราควอต จ.ลำพูน : https://www.youtube.com/watch?v=fZHg__eQtAE
ตอน กินดีอยู่ดีที่ลำพูน : https://www.youtube.com/watch?v=NFzyFZ9p8zc