มรสุม! การปรับมาตรฐานการบินของไทย รอดหรือไม่?

หากกล่าวถึงเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญและเป็นที่น่าจับตามองที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ประเทศไทยต้องพบกับมรสุมจากหลายหน่วยงานของต่างประเทศ ที่ออกมาประกาศปรับลด “มาตรฐานการบิน” ของประเทศไทย โดยเรื่องดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบกับประเทศไทยไม่มากก็น้อย ทั้งในเรื่องของความมั่นคง, เศรษฐกิจ, รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้น และที่สำคัญที่สุดอาจทำให้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมการบินของไทยมีความน่าเชื่อถือลดน้อยลง โดยมรสุมแรกเริ่มจาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation…

Home / NEWS / มรสุม! การปรับมาตรฐานการบินของไทย รอดหรือไม่?

หากกล่าวถึงเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญและเป็นที่น่าจับตามองที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ประเทศไทยต้องพบกับมรสุมจากหลายหน่วยงานของต่างประเทศ ที่ออกมาประกาศปรับลด “มาตรฐานการบิน” ของประเทศไทย

โดยเรื่องดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบกับประเทศไทยไม่มากก็น้อย ทั้งในเรื่องของความมั่นคง, เศรษฐกิจ, รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้น และที่สำคัญที่สุดอาจทำให้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมการบินของไทยมีความน่าเชื่อถือลดน้อยลง

423

โดยมรสุมแรกเริ่มจาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจากสหประชาชาติ (UN) ได้เคยออกมาประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยในการออกใบอนุญาตทำการบินของประเทศไทย ด้วยการปักธงแดงบนเส้นทางบินของประเทศไทยในเว็บไซต์ของ ICAO เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งผลกระทบจากการประกาศครั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้เริ่มมีมาตรการเข้มงวดกับสายการบินจากไทยแล้ว โดยห้ามเพิ่มเที่ยวบิน ห้ามเปลี่ยนแบบเครื่องบิน ห้ามเช่าเหมาลำ อีกทั้งยังขึ้นตรวจตามเที่ยวบินต่างๆ อย่างเข้มงวด

และมรสุมต่อมาที่มีการประกาศล่าสุด คือ สำนักงานบริหารองค์กรบริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือ FAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่คอยวางระเบียบและควบคุม ตลอดจนตรวจสอบงานการบินพลเรือนของอเมริกา และยังเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานด้านการบินพลเรือนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ประกาศลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทยจาก category 1 เป็น category 2

ซึ่งการลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทยครั้งนี้ เริ่มต้นจาก

FAA ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย และพบจุดที่ต้องแก้ไขทั้งในแง่ของกฎหมายหรือกฎระเบียบที่จำเป็น ในการควบคุมตรวจสอบว่าเครื่องบินเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของนานาชาติ หรือ มาตรฐานของหน่วยงานการบินด้านความปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งขาดความพร้อมในด้านใดด้านหนึ่งหรือมากกว่า อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรม กระบวนการเก็บข้อมูล และ กระบวนการตรวจสอบ

ทาง FAA จึงให้เวลาแก้ไขจุดบกพร่องดังกล่าว ต่อมา เมื่อวันที่ 26-28 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จาก FAA ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เพราะเห็นว่าผลการทำงานของกรมการบินพลเรือนไทย เพื่อแก้ไขข้อห่วงกังวลของ FAA เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และนำไปสู่การประกาศลดระดับมาตรฐานในที่สุด

เมื่อประเทศไทยถูกลดระดับมาตรฐานเช่นนี้แล้ว ผลกระทบที่จะเกิดตามมา คือ

สายการบินของไทยที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของไทย จะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศสหรัฐฯได้ จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องสำเร็จ และระหว่างนี้ สหรัฐฯจะไม่สนับสนุนในการทำข้อตกลงทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) กับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 2 รวมทั้งจะตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้น เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินในสหรัฐฯ แต่กรณีนี้จะยังไม่กระทบกับการบินของไทยมากนัก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสายการบินของไทยที่บินเข้าสหรัฐโดยตรง

สำหรับมรสุมที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทยยังไม่จบง่ายๆ เนื่องจากการที่ 2 หน่วยงานดังกล่าว ได้ออกมาประกาศลดมาตรฐานการบินของไทยนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยงานที่เป็นสถาบันประเมินมาตรฐานการบินอื่นในหลายประเทศ อาจมีปฏิกิริยากับการบินของไทยจนนำไปสู่การประเมินที่เป็นไปทิศทางเดียวกันได้

หลังจากนี้สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือการประเมินของ สำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency หรือ EASA) ที่จะมีการประกาศผลในวันที่ 10 ธันวาคม นี้ ซึ่งแนวโน้มการประเมินมีความเป็นไปได้ว่า จะออกมาในทิศทางเดียวกันกับหน่วยงานข้างต้น ทั้งนี้หากมีการลดระดับเช่นเดียวกัน ผลกระทบที่จะตามมาคือธุรกิจของบริษัทการบินไทยจะเกิดความเสียหาย

โดยไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม เพิ่มจุดบินในเส้นทางใหม่ รวมถึงเปลี่ยนรุ่นเครื่องบินได้ จากปัจจุบันที่มีบริการในเส้นทางยุโรปรวม 11 จุดหมายปลายทาง คิดเป็นรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้การบินไทยทั้งหมด เพราะเป็นสายการบินที่เปิดเส้นทางบินไปยุโรป

อย่างไรก็ตาม การปักธงแดงขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และการลดระดับของ FAA ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องหันกลับมาสำรวจข้อบกพร่องของตนเอง และเร่งพัฒนามาตรฐานการบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมการบินของไทยให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง

 

 

ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com

MThai News