พระเขี้ยวแก้ว จากจีนประดิษฐานท้องสนามหลวงถึง 14 ก.พ. 68
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568 เคลื่อนผ่านจุดให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพ บริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถนน หน้าพระลาน เมื่อริ้วขบวนถึง มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เริ่มการประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ขึ้นประดิษฐานที่มณฑปอย่างยิ่งใหญ่และงดงาม
การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ได้อัญเชิญขึ้นรถริ้วขบวน โดยขบวนรถเคลื่อนผ่านทางยกระดับดอนเมือง ผ่านเส้นทางเยาวราช ถนนหลานหลวง และเข้าสู่ถนนราชดำเนินไปยังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เพื่อไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง จำนวน 24 ขบวน โดยมีผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงาน ของไทย – จีน องค์กรเครือข่าย 5 ศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 2,700 คน จากความร่วมมือของ รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกัน ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวงเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568
ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชนเข้าสักการะพระเขี้ยวแก้วได้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 07.00 น – 20.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะและโปสการ์ดพร้อมบทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระเขี้ยวแก้วมอบให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) และจะอัญเชิญกลับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
ภาพโดย วิชาญ โพธิ
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
8 จุดแนะนำ ที่จอดรถ วัดพระแก้ว ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกาะรัตนโกสินทร์
รู้จักความเป็นมาและความหมายของ พระบรมสารีริกธาตุ
วิธีบูชาและคำกล่าวบูชา พระบรมสารีริกธาตุ