กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย วันมหิดล สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

24 กันยายน วันมหิดล พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

ประชาชนทั่วไปสามารถสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลาศิริราช 100 ปี ภายในโรงพยาบาลศิริราชได้ทุกวัน

Home / NEWS / 24 กันยายน วันมหิดล พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

24 กันยายน วันมหิดล

วันมหิดล เป็นวันระลึกถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ตรงกับวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี โดย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกได้รับการถวายพระสมัญญา พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย จากพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย

ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์” หรือ “สมเด็จพระราชบิดา” และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า “เจ้าฟ้าทหารเรือ” และ “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล”

วันมหิดล

พระราชประวัติ

พันเอก(พิเศษ) จอมพลเรือ นายกองเอก นายแพทย์ ดร.สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (1 มกราคม พ.ศ. 2435 – 24 กันยายน พ.ศ. 2472) พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นต้นราชสกุลมหิดล ทรงเป็น​สมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงมีพระโสทรเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงมีพระคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย

ทรงสำเร็จการศึกษา วิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟล็นส์บวร์ค-เมือร์วีค (Marineschule Flensburg-Mürwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และทรงเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน ซึ่งก่อนหน้านี้พระองค์ได้รับพระราชทานยศนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2454 และยศนายเรือตรีแห่งจักรวรรดินาวีเยอรมันจากจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี จากนั้นพระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปศึกษาต่อยังสหรัฐโดยมีพระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) เป็นผู้ถวายคำปรึกษาในการเลือกมหาวิทยาลัย โดยทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ โดยทรงเข้าศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ก่อนเป็นเวลา 1 ปี และลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี พ.ศ. 2460 จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมระดับ Cum Laude เมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังจากนั้น พระองค์เสด็จนิวัตกลับประเทศไทย

พระราชกรณียกิจ

ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัด ตั้งฐานทัพเรือและสถานี ทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ส่วนทางด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้าให้นักเรียนออกไปศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกต่าง ๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราชและยังเสด็จไปทรงงานทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่

ในด้านการสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน พระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์ และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี

ในภายหลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกก็ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย สิริพระชนมายุได้ 37 ปี 267 วัน

ประชาชนทั่วไปสามารถสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลาศิริราช 100 ปี ภายในโรงพยาบาลศิริราชได้ทุกวัน

Google map : https://maps.app.goo.gl/SWZAC8bH2vquzKKo8

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

28 ก.ค. วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ หาดทรายรี ชุมพร
พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีแห่งราชวงศ์จักรี