หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชี้ หากประเทศไทยไม่เลิกใช้สารอันตราย “พาราควอต” ในการฆ่าวัชพืชและแมลง จะส่งผลให้มีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลวิจัยยังพบอีกว่า ในแม่ตั้งครรภ์ที่รับสารชนิดนี้เข้าไป จะถ่ายทอดสู่ลูก ทำให้ลูกมีความเสี่ยงพิการทางสมองได้
นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชและแมลงมากกว่า 280 ชนิด ซึ่งมี 3 ชนิด ที่มีอันตรายต่อสุขภาพในระดับรุนแรง แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสท
โดยการเข้าสู่ร่างกาย สามารถเข้าได้หลายทาง ได้แก่ จากการสูดดมสารที่ระเหยในอากาศ จากการสัมผัสสารที่ตกค้างในน้ำบริเวณพื้นที่การเกษตร และจากการทานพืชผักที่มีสารเหล่านี้ตกค้าง
ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ถึงแม้จะมีการรับสารเหล่านี้เข้าไปสู่ร่างกายในปริมาณน้อยแต่สะสมเป็นระยะเวลานาน ความเข้มข้นของสารจะมีผลกระทบต่อสมอง ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม และโรคพากินร์สันได้ ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้มากถึง 140 คน ต่อ 1 แสนประชากร
ขณะที่ หากสัมผัสเป็นระยะเวลานาน หรือสัมผัสโดยตรงแบบเฉียบพลัน จะมีผลกระทบต่อผิวหนัง ทำให้หนังเน่า เนื้อเน่า และกระแสโลหิตเป็นพิษได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า สารเหล่านี้ยังไปทำให้ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง และต่อต้านกระบวนการป้องกันพิษในร่างกาย ทำให้เกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น
สำหรับ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ก็ยังได้รับความเสี่ยงจากการทานพืชผักที่มีสารเหล่านี้ตกค้าง เนื่องจากไม่มีใครทราบได้ว่า พืชผักที่นำมาประกอบอาหาร จะมีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่ และที่สำคัญการล้างผักไม่ว่าจะวิธีใด ก็ไม่สามารถล้างสารปนเปื้อนออกได้ทั้งหมด ล้างออกได้เพียงร้อยละ 30 – 60 เท่านั้น รวมถึงการนำไปผ่านความร้อนไม่สามารถทำลายสารปนเปื้อนเหล่านี้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า แม่ตั้งครรภ์ที่รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย สารเหล่านี้ก็จะถ่ายทอดไปสู่ลูก ทำให้เด็กมีสติปัญญาอ่อน มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง พร้อมกันนี้ยังมีการศึกษาพบว่า สารเหล่านี้สามารถพบได้ในสายสะดือเด็กทารก และขี้เถ้าของเด็กทารก จึงยืนยันได้ว่าในแม่ตั้งครรภ์ที่ถึงแม้จะไม่ใช่เกษตรกร แต่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน