เปิดรายจ่ายผู้ใช้แรงงานในแต่ละวัน หลังมีการเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 360 บาททั่วประเทศ
จากที่อนุกรรมการค่าจ้าง เคาะปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-10 บาท ซึ่งเตรียมที่จะชงเข้าที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ขณะที่ภาคแรงงานก่อนหน้านี้ได้มีการร้องมาตลอดว่าขอให้มีการปรับขึ้นเป็น 360 บาททั่วประเทศ ซึ่งวันนี้ทีมข่าวได้รวบรวมค่าใช้จ่ายของแรงงานในแต่ละวันมาดูกันว่าเป็นอย่างไร
ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงทุกปีกับการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แม้ปีนี้จะมีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงเป็น 360 บาททั่วประเทศ แต่เรื่องนี้ก็ยังอยู่ในขั้นพิจารณา
หากย้อนกลับไปดูปี 2561 มีการประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ซึ่งปรับขึ้นสูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยกำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดวันละ 330 บาท คือในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และระยอง ส่วนอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำที่สุด คือ 308 บาท ในพื้นที่จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง เป็นวันละ 325 บาท
ขณะที่จากการสำรวจค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานในแต่ละวัน โดยแยกเฉพาะสิ่งจำเป็นพบว่า ค่าอาหารรวม 3 มื้อ ราคาประมาณต่อมื้อ 35-40 บาท รวมอยู่ที่ 105 – 120 บาท ส่วนค่าเดินทางซึ่งขึ้นอยู่กับการบริการของรถสาธารณะหากใช้รถโดยสาร ขสมก. หรือรถร่วมบริการ จะอยู่ที่ 18 บาทต่อวัน แต่หากเป็นรถไฟฟ้าจะอยู่ที่ไม่ต่ำ 60 บาทต่อวัน ค่าเช่าที่อยู่อาศัยราคาอยู่ที่ต่อเดือน 3 พันบาทขึ้นไป ไม่รวมราคาค่าสาธารณูปโภค
ส่วนค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนตัวขึ้นอยู่กับสินค้าที่ซื้อ แต่ขั้นต่ำต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1 พัน 5 ร้อยถึง 2 พันบาท ซึ่งหากรวมค่าใช้จ่ายในแต่ละวันพบว่าผู้ใช้แรงงานจะต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 300 – 380 บาท หรือต่อเดือนประมาณ 1 หมื่น 1 พันบาท
ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศปี 2560 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,946 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลยเดือนละ 21,437 บาท ปี 2560 รายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 0.1 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ภาวะการณ์เป็นหนี้ของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.1 เป็น 50.7 ที่สำคัญจำนวนนี้มีการเป็นหนี้นอกนอกระบบเพิ่มขึ้น