หลังจากมีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่องถึงการรวมกิจของ 2 แบงก์ ‘ทหารไทย-ธนชาต’ ล่าสุดเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารธนชาต ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฏหมาย เกี่ยวกับการรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาต กับธนาคารทหารไทย เพื่อกำหนดหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไป
โดยเหตุผลในการรวมกิจการ เป็นการดำเนินโดยสมัครใจของผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้งสองธนาคาร ตามนโยบายที่รัฐสนับสนุนให้เกิดธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ภายหลังการรวมกิจการ จะมีสินทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งนี้ธนาคารทั้งสองแห่งมีจุดแข็งซึ่งส่งเสริมกัน กล่าวคือ ธนาคารทหารไทยมีจุดเด่นในการระดมเงินฝากด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม ขณะที่ธนาคารธนชาตเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์
คาดว่า การรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทย โดยวิธีการโอนกิจการทั้งหมด จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท คาดว่าการรวมกิจการจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 และจะมีการใช้ชื่อทางการค้าใหม่ โดยพิจารณาจากจุดแข็งในเชิงพาณิชย์ของชื่อเดิมของทั้งสองธนาคาร