EXIM BANK

EXIM BANK ชูกลยุทธ์ ‘เกมเปลี่ยนประเทศไทย’ สร้างนักรบเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำเสนอปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของประเทศไทย  เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ทับซ้อนและสะสมมานาน ในมุมมองของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ( EXIM BANK ) ซึ่งมุ่งมั่นทำหน้าที่…

Home / NEWS / EXIM BANK ชูกลยุทธ์ ‘เกมเปลี่ยนประเทศไทย’ สร้างนักรบเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำเสนอปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของประเทศไทย  เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ทับซ้อนและสะสมมานาน

ในมุมมองของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ( EXIM BANK ) ซึ่งมุ่งมั่นทำหน้าที่ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” นำเสนอปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของไทยดังนี้

1. ขนาดตลาดและกำลังซื้อของคนไทยยังจำกัด ด้วยจำนวนประชากรไม่ถึง 70 ล้านคน  ทำให้กำลังซื้อในประเทศไม่สูง  และเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวมาเป็นเวลานาน อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ไทยมีสัดส่วนของประชากรอายุเกิน 60 ปีสูงถึงเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด

2. การขาดอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Industries) ที่ผ่านมาการผลิตเน้นเชิงปริมาณมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แทนการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแบรนด์ของตนเอง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันลงเป็นลำดับ

3. การขาดนักรบเศรษฐกิจไปบุกตลาดต่างประเทศ ท่ามกลางตลาดในประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ตลาดโลกเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะตลาดใหม่ (New Frontiers) หรือแม้แต่ตลาดหลักเดิมที่ยังมีช่องว่างอีกมากในการเข้าไปเติมเต็ม

4. ระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และกฎระเบียบหลายประการยังเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ประเทศไทยในวันนี้ไม่เหมือนอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยเป็นว่าที่ “เสือตัวที่ 5” ของเอเชียต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ปัจจุบันไทยยังติดกับดักเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Country) ภายในปี 2568 จะทิ้งห่างประเทศไทยหลายช่วงตัว ประเทศไทยจึงควรเร่งแก้ไขวางแผนและดำเนินกลยุทธ์แก้ไขจุดอ่อนสร้างจุดแข็งเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว

ปัญหาในเชิงโครงสร้างทั้งหมดนี้ ดร.รักษ์ ไม่ใช่นำเสนอแค่เพียงปัญหา แต่ได้นำเสนอทางออกให้ด้วยกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย (Thailand Game Changer)” โดย EXIM BANK จะเป็นกลไกของภาครัฐทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)” และลบคำสบประมาท ซึ่งเคยเป็นว่าที่ “เสือตัวที่ 5” แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย  เพราะไม่สามารถพัฒนาได้เร็วเท่ากับประเทศอื่นในอาเซียน อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย

กลยุทธ์เกมเปลี่ยนประเทศไทย ได้แก่

1. เกมสร้างนักรบเศรษฐกิจ ในการปลดล็อกข้อจำกัดด้านขนาดตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างผู้ส่งออก SMEs ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 23,000 รายหรือไม่ถึง 1% ของ SMEs รวม เทียบกับเวียดนามที่มีสัดส่วนถึง 10%

2. เกมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) เพื่อรองรับกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) สอดรับกับกระแสการใส่ใจสุขภาพของผู้คนในปัจจุบัน

3. เกมสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อธุรกิจการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พาณิชยนาวี โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ทั้งนี้ กลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย (Thailand Game Changer)” ของ EXIM BANK ถูกถอดออกมาเป็นแผนธุรกิจ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ในการเดินเกมดังกล่าว EXIM BANK จะทำหน้าที่ “ซ่อม” “สร้าง” “เสริม” และ “สานพลัง”

• “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤตหรือแข่งขันไม่ได้ เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เริ่มไปต่อไม่ได้ โดยช่วยประคับประคองและสนับสนุนให้เกิดการ Transform ธุรกิจ พร้อมพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ช่วยเหลือธุรกิจเรือพาณิชยนาวี จำนวน 112 ลำ ช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกไทยได้อีกทางหนึ่ง 

• “สร้าง” อุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green Economy : BCG Economy) ยอดคงค้างสินเชื่อ EXIM BANK ในธุรกิจ BCG Economy ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 39,800 ล้านบาท โดยขยายตัว 19% จากปีก่อนหน้า 

ขณะเดียวกัน EXIM BANK จะเร่งสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ที่พร้อมบุกตลาดโลก โดยเปลี่ยนผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก (Indirect Exporters) จำนวนราว 300,000 ราย ให้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก (Direct Exporters) ด้วยวิธีการผลักดันเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์บน EXIM Thailand Pavilion ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ชั้นนำระดับโลก หรือดึงเข้าร่วม Supply Chain ของผู้ส่งออก ด้วยบริการ EXIM Supply Chain Financing Solution โดยคาดหวังว่าหากสามารถเปลี่ยนผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกได้ปีละ 5% จะสร้างผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกหน้าใหม่ได้ปีละ 15,000 ราย

• “เสริม” การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เพื่อปิดช่องว่างการค้าการลงทุน การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ 1 รายอาจสร้าง Linkage กลับมาสู่ผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศได้มากถึง 500 ราย ปัจจุบัน EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการลงทุนใน CLMV ราว 44,000 ล้านบาท

• “สานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างคุณค่าและผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้  EXIM BANK ได้ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ในปี 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการ 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 73,800 ล้านบาท และในปี 2565 ธนาคารยังคงดำเนินภารกิจต่อเนื่อง 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ทิศทางการเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นการส่งเสริมให้เกิด BCG Economy ทั้งนี้ EXIM BANK ตั้งเป้าหมายที่จะขยายสินเชื่อ Development Port เพื่อสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้โต 10% ต่อปี (จากปัจจุบัน 74% ของ Port) สินเชื่อคงค้างของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเป็น 165,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ และ 200,000  ล้านบาท ในปี 2567 ตลอดจนตั้งเป้าหมายให้ EXIM BANK สามารถยกระดับเป็น “ธนาคารขนาดกลาง” ได้ในที่สุด

ทั้งนี้ โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Next Normal ที่ผู้คนเริ่มปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากโควิด-19 พร้อมกับโอกาสที่กำลังเข้ามาตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสร้างผู้ส่งออกใหม่จากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากจะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีจำนวนรายและมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการขยายฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ขณะเดียวกันยังช่วยนำพาผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังการพัฒนาผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างผลผลิตเป็นนักรบเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกให้กลับมาเติบโตได้ทวีคูณและยั่งยืน