ประเด็นน่าสนใจ
- กรมปศุสัตว์ ติดตามตรวจสอบปริมาณสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศแล้ว 539 แห่ง พบเนื้อสุกรรวม 13.41 ล้านกิโลกรัม
- หากพบมีการกักตุน ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และเนื้อสุกรจะถูกสั่งให้จำหน่ายตามราคาที่ทางการกำหนดต่อไป
- กรณีไม่แจ้งปริมาณสต๊อกมีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- กรณีมีการกักตุน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ติดตามตรวจสอบปริมาณสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยเป็นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง และเจ้าหน้าที่พาณิชย์
ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 23 ม.ค. กรมปศุสัตว์รายงานว่า ได้มีการดำเนินการทั้งหมดไปแล้ว 539 แห่ง (ตัวเลขสะสมนับตั้งแต่วันที่ 20-23 ม.ค.) พบเนื้อสุกรรวม 13.41 ล้านกิโลกรัม และทางกรมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นที่มีสินค้าปศุสัตว์ที่เหลือให้ครบ ซึ่งจะมีอีกประมาณห้าร้อยกว่าแห่ง หากตรวจสอบโดยละเอียดพบมีการกักตุน ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และเนื้อสุกรจะถูกสั่งให้จำหน่ายตามราคาที่ทางการกำหนดต่อไป
ข้อมูลการเลี้ยงสุกร
สำหรับข้อมูลการเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ณ เดือน ม.ค. 2565 กรมปศุสัตว์รายงาน มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 1.07 แสนราย จำนวนสุกร 10.84 ล้านตัว แบ่งเป็น สุกรพ่อพันธุ์ 4.9 หมื่นตัว สุกรแม่พันธุ์ 9.79 แสนตัว และสุกรขุน 9.56 ล้านตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า จำนวนสุกรทั้งหมดลดลงร้อยละ 11.81 แยกเป็น สุกรพ่อพันธุ์ลดลงร้อยละ 41.1 สุกรแม่พันธุ์ลดลงร้อยละ 11.16 จำนวนสุกรขุนลดลง ร้อยละ 13.9 และในปีนี้ มีการขยายการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ใหม่
ส่วนพื้นที่เดิมที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการเลี้ยงลดลง ฟาร์มขนาดกลางมีจำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นและขยายการเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม
ควบคู่ไปกับการป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร รัฐบาลยังเร่งดำเนินการหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการหลายระยะ กล่าวคือ
- 1) งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลาสามเดือน
- 2) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร
- 3) สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ เรื่องเตรียมเข้า ครม.
- 4) ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน
- 5) เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน
- 6) ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- 7) เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด
- 8) ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
- 9) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าไปตรวจสต๊อกเนื้อสุกร หากพบการกักตุนหรือฉวยโอกาสขึ้นราคา จะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด กรณีที่ตรวจพบว่า มีการรายงานตัวเลขการครอบครองเนื้อสุกรไม่ตรงกับที่แจ้งพาณิชย์จังหวัด จะเข้าข่ายเป็นการกักตุนหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด
ความผิดการกักตุน-ไม่แจ้งสต๊อก
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดว่า กรณีที่ไม่แจ้งปริมาณสต๊อกถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน ส่วนในกรณที่แจ้งแล้วต้องตรวจสอบต่อไปว่าแจ้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ หากแจ้งด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ จะมีความผิดอีกเช่นกัน
หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำความผิด ขอให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงไปตรวจสอบและดำเนินการได้ทันที